NURTURE ONE RESEARCHER AT A TIME.
มอง ‘กล้องฟิล์ม’ ในฐานะปรากฏการณ์โหยหาอดีต
Oct 29, 2019 I Setthaphong Matangka
ในขณะที่เทคโนโลยีการถ่ายภาพในปัจจุบันถูกทำให้ง่ายเพียงแค่ปลายนิ้วผ่านสมาร์ทโฟนอย่าง Iphone 11 Pro, Samsung Note 10 หรือกล้องขนาดเล็ก แต่กระแสความนิยมของกล้องฟิล์มก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ตลอด อย่างล่าสุด คิทแคท (Kitkat) ประกาศเปิดตัวกล้องฟิล์มใช้แล้วทิ้งที่นำมาวางขายคู่กับขนมหวานในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากเมื่อดูจากกระแสความนิยมในสื่อสังคมออนไลน์ ว่าแต่ทำไม ผู้คนถึงพยายามย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของการถ่ายภาพผ่านกล้องฟิล์มในยุคที่โลกถูกแทนที่ด้วยกล้องดิจิทัล ?
ในประเทศไทยหากคุณเป็นหนึ่งในคนที่เล่นกล้องฟิล์มคงไม่มีใครไม่รู้จัก ‘กลุ่มคนรักกล้องฟิล์ม’ ที่เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ในเฟซบุ๊กที่รวมคนรุ่นใหม่และผู้ที่หลงใหลการใช้กล้องฟิล์มที่มีจำนวนสมาชิกกว่า 143,176 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 26 ตุลาคม 2562)
ย้อนกลับไปในปี ค.ศ.2012 บริษัทที่มีอายุเกือบ 140 ปี Eastman Kodak ประกาศล่มละลายและขายสิทธิบัตรจำนวนมากเพื่อพยุงให้ตนเองอยู่รอด การล้มสลายของโกดักในขณะนั้นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะการเข้ามาของกล้องดิจิทัลตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ยุค 2000 สุดท้ายกล้องฟิล์มจึงกลายเป็นเศษซากที่สะท้อนอดีตอันแสนรุ่งเรืองของยุคแอนะล็อก (Michael J. De La Merced, 2555)
ใครจะไปเชื่อว่าในเวลาไม่กี่ปีต่อมากล้องฟิล์มจะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งจนถึงขั้นมีการก่อตั้งวัน Film Photography Day ขึ้นมาในวันที่ 12 เมษายน ของทุกปี ผลสำรวจของ ILFORD บริษัทผลิตฟิล์ม น้ำยาล้างฟิล์ม กระดาษอัดภาพ ฯลฯ ที่มีการสำรวจผู้คนหลายพันคนตั้งแต่ปี ค.ศ.2014-2019 จาก 100 ประเทศทั่วโลก ปรากฏว่า จำนวน 68.4% เป็นกลุ่มคนอายุน้อยกว่า 44 ปี ที่ใช้กล้องฟิล์มมากว่าดิจิทัล นอกจากนั้นกว่า 32.8% คือคนที่กลับมาใช้กล้องฟิล์มอีกครั้ง และ 24.2% คือผู้ที่ใช้กล้องฟิล์มเป็นครั้งแรก (Magazine News & Stories, 2562)
ความนิยมของกล้องฟิล์มในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาทำให้เกิดกระแสย้อนกลับไปสู่ชีวิตแบบแอนะล็อกของผู้คนในอดีต ในทางมานุษยวิทยาจะเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า “การโหยหาหรือถวิลหาอดีต (Nostalgia)”
การโหยหาอดีต (Nostalgia) เป็นวิธีมองโลกหรือวิธีการให้ความหมายแก่ประสบการณ์ชีวิตของมนุษย์ โดยเน้นความสำคัญของจินตนาการและอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในปัจจุบันที่มีต่ออดีตที่ผ่านพ้นไปแล้ว (พัฒนา กิติอาษา 2546, 3)
ความจริงยุคสมัยของกล้องฟิล์มถือว่าแทบจะหายไปจากโลกหลังการกำเนิดของกล้องดิจิทัล แต่กลับถูกนำมาพิจารณาใหม่อีกครั้งโดยกลุ่มคนที่เติบโตมาในยุคที่มีแต่ความสะดวกสบาย ทันสมัย ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้หันไปจินตนาการถึงอดีตที่พวกเขาไม่เคยพบเจอ และสัมผัสโลกเหล่านั้นผ่านการผลิตซ้ำอีกครั้ง
William Kelly กล่าวว่า “การโหยหาอดีตเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในระดับปัจเจกบุคคลเพื่อเป็นการสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง ในระดับสังคม อาการโหยหาอดีตเป็นจินตนาการร่วมของบุคคลเพื่อฟื้นคืนชีพให้กับอดีตอย่างที่เราเห็นในภาพยนตร์ย้อนยุค” (พัฒนา กิติอาษา 2546, 5-9)
การโหยหาอดีตไม่ใช่แค่การย้อนเวลากลับไป แต่ยังมีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก การหวนระลึกถึงเรื่องราว และความรู้สึกที่ผ่านมา มีสมาชิกหลายคนในกลุ่มคนรักกล้องฟิล์มที่มีโอกาสนำกล้องฟิล์มของคนในครอบครัวออกมาปัดฝุ่นถ่ายภาพอีกครั้ง บางคนออกมาตามหากล้องฟิล์มตัวเก่าที่เคยใช้เพื่อที่จะได้ย้อนไปสู่ช่วงเวลาในวัยเด็กอีกครั้ง
กลุ่มคนที่หันมาใช้กล้องฟิล์มรวมตัวกันจนเกิดเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์จากทั่วทุกมุมโลกอย่าง Negative Feedback, Japan Camera Hunter รวมถึงกลุ่มคนรักกล้องฟิล์มในประเทศไทยได้เกิดความเชื่อมโยงกันจนกลายเป็นประสบการณ์ที่ออกมาสู่โลกแห่งความจริง และสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นที่หันมาใช้กล้องฟิล์มเหมือนกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคืองานกล้องฟิล์ม 35:36 ณ Warehouse 30 เทศกาลดึงดูดเหล่าคนรักกล้องฟิล์มจำนวนมาก ภายในงานนอกจากจะมีร้านขายกล้อง ยังมีกิจกรรมพูดคุยจากผู้เชี่ยวชาญด้านกล้องฟิล์มมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้คนรุ่นใหม่ฟัง ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก
ความจริงเทคโนโลยีแบบแอนะล็อกและดิจิทัลไม่ได้แยกจากกันอย่างเด็ดขาด ลองสังเกตแอพพลิเคชั่นอย่าง Gudak, Huji Cam หรือ VSCO ที่จำลองโทนภาพฟิล์มลงในมือถือ เทคโนโลยีเหล่านี้ก็พยายามจำลองความรู้สึกของการใช้กล้องฟิล์มลงในโลกดิจิทัล แม้แต่หน้าตาของกล้องดิจิทัลในปัจจุบันก็ต่างหยิบยืมรูปทรงของกล้องฟิล์มที่ได้รับความนิยมในอดีตอย่าง Fuji X-pro 3 ท้ายที่สุดเราไม่อาจรู้ว่ากระแสของกล้องฟิล์มที่เกิดขึ้นจะอยู่ไปอีกนานแค่ไหน แต่ผู้ใช้ฟิล์มทั่วโลกก็ยังคงถ่ายภาพฟิล์มต่อไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่ผู้ผลิตฟิล์มยังคงผลิตฟิล์มออกมา
Setthaphong Matangka
AUTHOR
บัณฑิตคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ผู้สนใจการถ่ายภาพและสื่อสังคมออนไลน์