top of page

รักเดียว...ทำไมมันยากนัก !

Oct 25, 2019 I Piyanat Chasi

#ทีมหมอเป้ง #ทีมหมอฉลาม เราเลื่อนหน้าฟีดทั้ง Facebook และ Twitter ต้องเห็นเป็นประจำเพราะใกล้จะถึงเวลาเฉลยแล้วว่าสุดท้ายใครจะได้ครองรักกับทานตะวัน ผู้เขียนยอมรับว่าเป็นหนึ่งในคนที่ติดตามซีรีส์รักฉุดใจ นายฉุกเฉิน ด้วยความสงสัยและอยากหาทางออกที่เป็นฉันทามติ เลยอยากรู้ว่า หรือจริง ๆ แล้วทานตะวันจะสามารถมีทั้งสองคนในชีวิตพร้อม ๆ กันได้ไหมนะ จนนำมาสู่การค้นหางานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และได้เจองานวิจัยที่ตั้งข้อสังเกตว่า ระบบ “ผัวเดียวเมียเดียว” การมี “รักแท้” เพียงแค่หนึ่งเดียว อาจจะเป็นการฝืนธรรมชาติของมนุษยชาติ 

บทความของ “สุธาวัฒน์ ดงทอง” ที่มีชื่อว่า “Monogamy” การมีคู่ครองคนเดียว นำเสนอประเด็นเดียวกันกับที่ผู้เขียนกำลังสงสัย โดยบทความมีสมมติฐานว่า “มนุษย์ถูกออกแบบมาเพื่อให้มีคู่ครองคนเดียวจริงหรือ” และได้ทำการศึกษาผ่านนักมานุษยวิทยาทั้ง 3 ท่านที่จะมาช่วยคลายข้อสงสัยโดยนำเสนอพลวัตรของระบบผัวเดียวเมียเดียวที่ถูกอธิบายผ่านทั้งสามกรอบแนวคิดหลักของนักมานุษยวิทยา จุดร่วมของทั้งหมดคือ ระบบ “ผัวเดียวเมียเดียวไม่ได้เป็นเรื่องธรรมชาติ” มันมีความฝืนธรรมชาติ โดยนำเสนอประเด็นที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • เริ่มด้วย Charles Darwin ที่การมีระบบผัวเดียวเมียเดียวคือการ “ปรับตัว” ของสังคมมนุษย์เพื่อช่วยให้เหมาะสมต่อการอยู่รอด

  • Margaret Mead มองว่าเป็นเรื่องระบบ “วัฒนธรรม” แต่ละสังคมมีบริบท สถานที่และเวลาแตกต่างกัน มีความเป็น “วัฒนธรรมสัมพัทธ์” 

  • Michel Foucault บอกว่าเป็น “กระบวนการประกอบสร้าง” วาทกรรมผัวเดียวเมียเดียว ประกอบสร้างของระบบในตะวันตกของรัฐ ศาสนา และความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์

ในหนังสือ On the origin of Species ของ Charles Darwin กล่าวถึง “การคัดสรรตามธรรมชาติ (Natural Selection)” หรือที่ Herbert Spencer ใช้ว่า “การอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมที่สุด (The Survival of the Fittest)” อธิบายสังคมโดยเชื่อว่า วิวัฒนาการนั้น เริ่มต้นจากสภาวะที่มีลักษณะง่าย ๆ ไปจนถึงลักษณะที่มีความซับซ้อน ความก้าวหน้าทางวิวัฒนาการเกิดจากสิ่งมีชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ผู้มีความเชี่ยวชาญและลักษณะที่เหนือกว่าเท่านั้นจึงจะสามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้ Spencer เปรียบเทียบสังคมมนุษย์ว่ามีลักษณะคล้ายกับอินทรีย์ทางชีววิทยา (Biological Organism) ใช้หลักการอุปมา (Analog) เชื่อมโยงชีววิทยาเข้ากับวิวัฒนาการทางสังคม ดังนั้นการจะศึกษาสังคมจึงสามารถที่จะศึกษาได้ในลักษณะเดียวกันกับวิวัฒนาการทางชีววิทยา

  • สุธาวัฒน์พยายามชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์แบบผัวเดียวเมียเดียว หรือมากผัวมากเมียเป็นเรื่องปกติทั้งสองแบบ เพราะในลำดับขั้นของวิวัฒนาการมนุษย์การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดไม่ใช่แค่ด้านร่างกายหรือกายภาพ แต่รวมถึงความสามารถในการปรับตัวทางวัฒนธรรมเพื่อความอยู่รอดด้วย บางสังคมต้องอาศัยการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียว หรือบางสังคมก็ต้องอาศัยความสัมพันธ์แบบมากผัวมากเมีย เพราะแต่ละสภาพแวดล้อมช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์นั้นมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน เช่น ในสังคมชนเผ่าบารี เวเนซูเอลา ผู้ชายทุกคนที่หลับนอนกับผู้หญิงคนหนึ่งระหว่างที่เธอท้อง จะถูกมองว่าเป็นพ่อของเด็กคนนั้นและช่วยกันเลี้ยงดู โดยการที่เด็กมีพ่อหลายคนเพราะแม่นอนกับผู้ชายหลายคนจะช่วยให้เด็กมีโอกาสรอดจนเป็นผู้ใหญ่ได้มากกว่าเพราะผู้ชายจะช่วยกันเลี้ยงดูเด็ก

  • มีข้อบ่งชี้ว่า มนุษย์เราแรกเริ่มเดิมทีนั้นมีวิวัฒนาการเป็นแบบหลายผัวหลายเมียเหมือนสัตว์ที่ใกล้ชิดกับเราอย่างชิมแปนซีลิงโบโนโบทั้งขนาดกระดูก โครงสร้างกล้ามเนื้อ และความสามารถในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าและการแก้ปัญหา ชัดเจนว่าทั้งชิมแปนซีและมนุษย์มีความใกล้เคียงกันเกือบทุกอย่างยกเว้นการมีคู่ครองคนเดียว 

  • มนุษย์มีเพศสัมพันธ์เพื่อผูกมัด ไม่ใช่แค่เพื่อมีลูก จากลักษณะการมีเพศสัมพันธ์ที่หันหน้าเข้ากันในขณะร่วมเพศ

  • แท้จริงแล้วการมีคู่นอนคนเดียวไม่เคยมีมาก่อน หลักฐานที่ชี้ว่าการมีคู่ครองคนเดียวนั้นเป็นเรื่องที่ “กุ” ขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้ อธิบายตั้งแต่ 300,000 – 10,000 ปี ว่าทำไมสภาพแวดล้อมถึงเหมาะที่จะมีหลายคู่ครอง เพราะผู้หญิงอ่อนแอและการมีลูกก็คือความอ่อนแอ ผู้ชายที่แข็งกว่าในด้านสรีระมีหน้าที่ต้องออกไปล่าสัตว์ มีโอกาสตายมาก เพราะงั้นการมีผู้ชายอีกคนหรือหลายคนช่วยกันปกป้องผู้หญิงและลูกให้อยู่รอดจึงเหมาะสมกับสังคมในยุคนักล่าสัตว์และนักเก็บของป่า

  • พอเข้าสู่ช่วงยุคหลัง 10,000 ปีมานี้ มนุษย์เราได้ลงหลักปักฐาน มีวิวัฒนาการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ไว้เพื่อบริโภค (Agricultural Revolution) ทำให้มนุษย์เราเริ่มเกิดความกังวลในทรัพย์สิน การแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียวจึง “เริ่ม” มีประโยชน์ในแง่ของการเพิ่มแรงงานให้กับครอบครัวและสะสมทรัพย์สินส่วนบุคคล (private property) เพื่อไม่ให้ผลผลิตและสัตว์เลี้ยงไปปะปนกับของคนอื่นในเผ่า และอีกด้านหนึ่งการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียวยังมีประโยชน์ในแง่ของการเพิ่มแรงงานให้กับครอบครัวเหมือนข้อตกลง

  • เพื่อสันติภาพและพันธมิตรทางธุรกิจ การแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียวจึงไม่ใช่เพื่อจัดความสัมพันธ์ส่วนบุคคลของผู้ชายและผู้หญิง แต่เพื่อเป็น “ญาติ” กัน ลองมองย้อนกลับไปดูการแต่งงานของแอนโธนีและคลีโอพัตรานั้น ไม่ได้เกิดจากความรัก แต่เกิดจากคนสองคนจากอาณาจักรที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกพยายามหาทางรวมกันปกครองทั้งสองอาณาจักรร่วมกัน

  • มนุษย์เริ่มประดิษฐ์ “เครื่องมือ” ที่ใช้ดำรงชีวิตเพื่อต่อสู้และให้อยู่รอด เช่น หอก มีด ดาบ เริ่มมีบ้านป้องกันความหนาวเย็น และสัตว์ร้าย ร่างกายของทารกจึงลดความสำคัญลงไปที่ต้องปกป้องดูแล การสะสมอาหารหรือมีทรัพย์สินมากจึงมีความสำคัญมากกว่าร่างกายที่แข็งแรง ซึ่งจะมีทรัพย์สินสะสมอาหารต้องอาศัยความสัมพันธ์แบบผัวเดียวเมียเดียว

  • ในกรอบของนักชีววิทยาวิวัฒนาการระบบผัวเดียวเมียเดียว (Evolutionary Biologist) เป็นการควบคุมทรัพยากรที่จะทำให้พ่อแม่อุทิศตัวให้กับเด็ก และทำให้เด็กมีโอกาสรอดเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้มากขึ้น

  • ความรักคือสิ่งใหม่ เพิ่งเกิดขึ้นในปีทศวรรษที่ 1,700 โดยนักวิทยาศาสตร์ผู้ชายใช้ทฤษฎีการเลือกเพศในการอธิบายบทบาททางเพศ (sexual selection theory) ในสมัยวิกตอเรีย ตามที่ Darwin เขียนไว้ในหนังสือ The Descent of Man and Selection in Relation to Sex ไว้ว่า “ดูเหมือนว่าอารมณ์ความรู้สึกของผู้หญิงจะแตกต่างจากผู้ชาย ส่วนใหญ่ในความอ่อนโยนมากกว่าของเธอและความเห็นแก่ตัวน้อยกว่า ผู้ชายชอบการแข่งขันและนำไปสู่ความทะเยอทะยาน ดังนั้นผู้ชายจึงควรเป็นฝ่ายที่เหนือกว่าผู้หญิง” ความคิดดังกล่าวเป็นที่ยอมรับอย่างมากและอยู่มายาวนานมาก เพราะสมเหตุสมผลสำหรับสังคมที่เราใช้ชีวิตกันอยู่ แต่ถ้าการมีคู่ครองคนเดียวเป็นเพียงความคิดที่กุขึ้นมาก็คงเป็นเรื่องที่กุขึ้นมาเพื่อสร้างวิธีการบังคับบทบาททางเพศ และการจัดระเบียบทางสังคม

  • การที่คู่ครองคนเดียวไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากแรงขับหรือสัญชาตญาณตามธรรมชาติ แต่มนุษย์มีความสามารถในการทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรมชาติได้ โลกยุคใหม่ (Modern World) ที่เราฝืนธรรมชาติก็เพื่อปรับตัวให้อยู่รอด

  • การมีคู่ครองคนเดียวเปรียบเสมือนเป็นมังสวิรัติ (Vegetarian) คุณเลือกได้ที่จะเป็นเพราะมันดีต่อสุขภาพ และถูกศีลธรรม แต่การที่คุณเป็นมังสวิรัติไม่ได้หมายความว่ากลิ่นเบคอนจะเลิกหอม

  • วัฒนธรรมคือสิ่งที่มนุษย์มีวิวัฒนาการสามารถปรับตัว (Adaptable) ทำในสิ่งที่ไม่เป็นธรรมชาติได้ เรียกว่า “วัฒนธรรม”

นักมานุษยวิทยาหญิง Margaret Mead เน้นให้ความสำคัญกับทฤษฎีวัฒนธรรมสัมพัทธ์ (Cultural Relativism) โดยมีแนวคิดจากท่านอาจารย์ Franz Boas และทำงานร่วมกับ Ruth Benedict ที่มองว่า สิ่งผิดปกติ (Abnormal) ในวัฒนธรรมหนึ่ง อาจจะได้รับการยกย่องในอีกวัฒนธรรมหนึ่ง

  • เช่น ผัวเดียวเมียเดียวที่บางสังคมยึดถือเป็นกฎหมาย ในอีกสังคมหนึ่งอาจมองแล้วงง ๆ ว่าผัวเดียวเมียเดียวจะอยู่กันได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ชาวเผ่าเยซูอิต หรือเผ่าบารีในเวเนซูเอลาที่มีวัฒนธรรมแบบ “หลายผัวหลายเมีย”

  • Mead ได้ทำให้เรื่องเพศกลายเป็นเรื่องของวัฒนธรรมมากกว่าเรื่องทางกายภาพ เรื่องราวทางเพศไม่ได้เป็นเรื่องธรรมชาติล้วน ๆ ตรงกันข้าม เรื่องเพศเป็นเรื่องวัฒนธรรมมากกว่าเรื่องธรรมชาติเชิงชีววิทยา ขั้วทางวัฒนธรรมกลับกลายเป็นขั้วสำคัญในการอธิบายวิถีทางเพศ

  • การอ้างความชอบธรรมของตะวันตกที่ยกย่องวัฒนธรรมตัวเองให้สูงสุด เรียกว่าลัทธิอาณานิคม (Colonialism) มันอ้างไม่ได้เพราะวิวัฒนาการวัฒนธรรมไม่ได้เป็นเส้นตรง (Unilinear) แต่ควรเป็นประวัติศาสตร์ที่เรียกกว่า “ลักษณะเฉพาะ”

  • เมื่อมองกลับมาในประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของวัฒนธรรม ผัวเดียวเมียเดียวในสังคมไทย แรกเริ่มจะพบมากในชนชั้นไพร่ ส่วนผัวเดียวหลายเมียจะพบเจอในหมู่ชนชั้นนำสยามที่เป็นชายนิยมการมีเมียมาก เพราะแสดงออกถึงสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ

  • เมื่อสยามเผชิญหน้ากับจักรวรรดินิยมตะวันตก โดยครอบครัวที่แสดงถึงความเป็น “สมัยใหม่” ตามวาทกรรมชาติพันธุ์วรรณาแบบจักรวรรดินิยม (Imperial ethnography) และอุดมการณ์จากยุคภูมิธรรม ทำให้ชนชั้นนำสยามตระหนักว่า ผัวเดียวเมียเดียวไม่ใช่วัฒนธรรมสังคมสยาม ครอบครัวผัวเดียวหลายเมียต่างหากที่เป็นขนบของสยาม แต่ถูกมองว่า “ป่าเถื่อนและล้าหลัง” ราชสำนักในสายตาตะวันตกจึงเปรียบเสมือนฮาเร็ม กดขี่ผู้หญิง ล้าหลัง สกปรก สยายจึงเลือกสร้างความเป็นสมัยใหม่ขึ้นมาผ่านมโนทัศน์ผัวเดียวเมียเดียว และเข้าสู่สังคมสยามในช่วงรัชกาลที่ 4 ก่อให้เกิดคำถามต่อการดำรงอยู่ของวัฒนธรรม “ผัวเดียวหลายเมีย” ในหมู่ชนชั้นนำสยาม กลายเป็นใจกลางของปัญหาเพศสภาวะ (gender) กับความเป็นชาติ (nation) ที่ยึดโยงปัญหาอื่น ๆ มาเกาะกุมกัน เช่น สถานะของผู้หญิง เมียน้อย ลูกนอกสมรส โสเภณี สังคมสยามพยามสร้างภาพลักษณ์ของความเป็นสมัยใหม่ ปฏิรูปกฎหมายให้มีลักษณะเป็นสากลเพื่อให้รอดพ้นจากการเป็นเมืองประเทศราช

  • สังคมไทยที่มีลักษณะผัวเดียวหลายเมียก่อนการเข้ามาของลัทธิล่าอาณานิคมตะวันตก เหมาะสมกับวัฒนธรรมสยาม เพราะบริบทในช่วงเวลานั้นความสัมพันธ์ในสังคมเป็นแบบ “ระบบอุปถัมภ์” ระบบผัวเดียวหลายเมียช่วยให้ระบบอุปถัมภ์เข้มแข็ง เพราะการที่ผู้ชายมีอำนาจมากก็ย่อมที่จะมีเมียหลายคน แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการอุปถัมภ์เมียได้หลายคน และทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

  • โดยใช้งานของ Mead เพื่อสะท้อนกระบวนการเข้ามาของวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียวที่เข้ามาในสยามว่าเป็นการอ้างความชอบธรรมให้กับลัทธิล่าอาณานิคมที่มองว่า สังคมตะวันตกอยู่บนจุดสุดยอดของวิวัฒนาการทางสังคม ดังนั้นมหาอำนาจตะวันตกจึงถือสิทธิที่จะมีอำนาจครอบงำผู้ที่มีวัฒนธรรมน้อยกว่าตน

  • แนวคิดของ Mead มองว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ถือได้ว่าเกิดขึ้นด้วยตัวของมันเอง ดังนั้นวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ โดยอ้างถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่มีลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมนั้น 

คนสุดท้ายคือ Michel Foucault ที่สุธาวัฒน์ดึงแนวคิดมาพิจารณา “ผัวเดียวเมียเดียว” ในฐานะที่เป็นวาทกรรมหลัก ว่าไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เกิดจากการประกอบสร้าง ผ่านรัฐ สถาบันศาสนา และเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อสอดส่อง ตรวจตราและบงการร่างกายของสมาชิกในรัฐให้อยู่ภายใต้การกำกับ ควบคุม ดูแล ของรัฐและศาสนา การประกอบสร้างอุดมการณ์หลักผัวเดียวเมียเดียวให้เป็นภาพแทนถึงวัฒนธรรมสมัยใหม่ เพื่อเปลือยให้เห็น “อำนาจ” ที่ฝังอยู่กับความรู้และ วาทกรรมท้ังหลาย เผยให้เห็นถึงเทคนิคของการสร้างพลเมืองที่เชื่อฟังและยอมรับอำนาจของรัฐผ่าน ระบบ เป็นกลไกของอำนาจที่มากับวาทกรรมในการบงการสร้างเรือนร่างของคนในสังคมสมัยใหม่สยบยอมต่ออำนาจของอุดมการณ์

  • ​วาทกรรม (discourse) ในงานชิ้นนี้หมายถึง ระบบ กระบวนการในการสร้าง/ผลิต (constitute) เอกลักษณ์ (Identity) และความหมาย (significance) ให้กับสิ่งต่าง ๆ ในสังคมที่เราอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ความจริง อำนาจ หรือตัวตนของเราเอง

  • วาทกรรมผัวเดียวเมียเดียวไปเบียดวาทกรรมหลายผัวผลายเมียให้กลายเป็นชุดวาทกรรมชายขอบ โดยสร้างภาพแทนให้การมีหลายผัวหลายเมียคือ ความป่าเถื่อน ไม่รู้จักควบคุมความต้องการทางเพศ การร่วมเพศเพื่อแสวงหาความสุขนอกสถาบันครอบครัวเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ส่งผลให้วาทกรรมผัวเดียวเมียเดียวเป็นวาทกรรมหลัก

  • ก่อนวาทกรรมผัวเดียวเมียเดียวจะเป็นวาทกรรมหลัก ความคิดเรื่องเพศถูกจัดให้เป็นสิ่ง “เลวร้าย” ในศาสนา แต่การไม่ร่วมเพศ มนุษยชาติก็ต้องสูญพันธุ์ คริสต์จักรจึงต้องทนให้มีการรวมเพศอยู่ต่อไป เพราะไม่เช่นนั้น อาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า (Kingdom of God) จะต้องสูญสิ้นไป เพียงแต่การร่วมเพศในคริสต์ศาสนาจะมีแค่ในสถาบันการแต่งงานที่ได้รับการรับรองโดยศาสนาเท่านั้น เป้าหมายของการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียวของคริสต์ศาสนาอยู่ที่การมีลูก และการมีสุขอนามัย ไม่ส่ำส่อน และทั้งหมดเป็นพันธะสัญญาที่ต้องกระท่าต่อพระเจ้า การละเมิดสัญญาจึงเป็นเรื่องร้ายแรงมาก

  • ดังนั้น การแสวงหาความสุขทางเพศ การร่วมเพศในฐานะของความสุขสำราญใจ ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ “ฟุ่มเฟื่อย” และถูกมองว่าเสพติดการร่วมเพศ ไม่สมควรมีกิจกรรมทางเพศมากเกินไป เพราะกิจกรรมทางเพศควรมีเพื่อสืบพันธุ์หรือส่งพันธุกรรมไปยังรุ่นถัดไปเท่านั้น

  • คริสต์ศาสนาใช้เวลากว่าพันห้าร้อยปีถึงทำให้การแต่งงานเป็นเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า แต่เมื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่และรัฐประชาชาติ (nation-state) ที่ต้องควบคุมวิถีปฏิบัติของประชาชนในระดับชีวิตประจำวันอย่างเข้มข้นขึ้น ไปจนถึงควบคุมเรื่องบนเตียง รัฐเข้ามาตรวจตราสอดส่องดูแลสมาชิกเพิ่มมากขึ้น โดยรัฐที่ร่ำรวยกระทำผ่านศาสตร์ที่ซับซ้อนและดูน่าเชื่อถือ ขณะที่รัฐยากจนจะใช้กลไกง่าย ๆ ทางศาสนาในการควบคุมพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์

  • เมื่อรัฐสมัยใหม่เข้ามาเป็นตัวแสดงหลักแทนศาสนจักรกำลังอ่อนแรงลงไป วาทกรรมผัวเดียวเมียเดียว จึงกลายมาเป็นวาทกรรมสำคัญที่รัฐใช้ในการสอดส่องตรวจตราประชาชน เช่น การจัดทำสำมโนประชากร การจัดท่าสถิตเกี่ยวกับจำนวนเพศหญิง เพศชายภายในรัฐ โดยมีนวัตกรรมที่เข้ามาแทนการมีเพศสัมพันธ์ที่ได้รับรองจากพระเจ้าคือ “การจดทะเบียนสมรส” เมื่อการอนุญาติให้มีเพศสัมพันธ์ต้องจดทะเบียนเป็นลายลักษณ์อักษร ส่งผลให้การควบคุมจำนวนประชากร ลูกที่เกิดจากการสมรสโดยถูกกฎหมายจะต้องไปแจ้งเกิด เพื่อจะได้รับการถูกรับรองในฐานะเป็นพลเมืองของรัฐ มีการมอบสัญชาติซึ่งจะกลายมาเป็นอัตลักษณ์ไปตลอดชีวิต สิ่งเหล่านี้ล้วนกระทำภายใต้การตรวจส่องตรวจตาเสมือนพานอปติคอน (panopticon) ที่คอยสอดส่องประชากร คอยนับจ่านวนประชากร เมื่อเกิดต้องไปแจ้งเกิด เมื่อจากไปก็ต้องไปแจ้งตายต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ รัฐเฝ้ามองและนับจำนวนประชากรอยู่ตลอดเวลา รัฐจะกระทำไม่ได้เลย หากปราศจากสถาบันครอบครัวที่มีรูปแบบการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียว ความคิดดังกล่าวดำเนินไป ภายใต้กรอบความคิดที่ว่ามนุษย์เป็นทรัพยากร (human resources) อันเป็นความคิดที่เกิดในคริสต์ศตวรรษที่ 18 จนท่าให้รัฐสมัยใหม่ต้องเข้ามามีบทบาทในการบริหารชีวิตประวันของมนุษย์ให้ดำเนินไปอย่างถูกต้อง

บทความของสุธาวัฒน์ที่นำเสนอว่า ระบบ “ผัวเดียวเมียเดียวไม่ได้เป็นเรื่องธรรมชาติ” มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เรามองสังคมวัฒนธรรมการมีมากผัวมากเมีย (Polygamy) หรือปรากฏการณ์ทางสังคมเกี่ยวกับเรื่องเพศอื่น ๆ ในสังคมปัจจุบันที่นับวันเรื่องเพศนั้นจะมีความซับซ้อน ได้อย่างละเอียดและมีความลุ่มลึกหลากมิติมากยิ่งขึ้น

  • Facebook
  • YouTube
  • Instagram
Piyanat Chansi

AUTHOR

Keng.png

มนุษย์ผู้หลงใหลการดูหนังแอคชั่น มองหาประเด็นในหนังมาถกกับตัวเอง และถกกับกูเกิ้ล

SEX_Edu-01.png

Sex Education: โรงเรียนไม่ได้สอนหลักสูตรร้อน ๆ จาก Netflix

ดูข่าวเรื่องปลดป้ายซีรีส์ดังเรื่องนี้แล้ว ยิ่งอยากพูดถึงเนื้อหาของมันจับใจ  Sex Education เพศศึกษา (หลักสูตรเร่งรัก) เป็น series ใหม่จาก Netflix 

Cover_Kiss-02_edited.jpg

The Ugly Truth of “Kissing”
เรื่องจริงที่ (เหมือนจะ) เจ็บปวด

“จูบแรกของคุณเมื่อไหร่กัน?

จูบนั้นสำคัญกับคุณ มากขนาดไหน ?”

เดี๋ยวค่อยตอบหลังอ่านบทความนี้จบก็ได้

Untitled-4-01.png

"เมื่อเกมเล่นคน โรคร้ายที่เกิดจากการเล่นเกม"

การ “เล่นเกม” ที่เมื่อก่อนเคยเป็นกิจกรรมของบุคคลเฉพาะกลุ่มและเข้าถึงได้ยาก แต่ในปัจจุบันนี้การเล่นเกมกลายเป็นกิจกรรมยามว่างในชีวิตประจำวัน

bottom of page