top of page
Writer's pictureTSIS

5 ข้อดีของการมีแฟนเป็นนัก(ทำ)วิจัย

By สุขฤดี

เวลาช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน รู้ตัวอีกทีผ่านไปครึ่งปีแล้ว New Year’s Resolution 2020 ที่ตั้งไว้ยังทำไม่สำเร็จสักอย่าง หนึ่งในเป้าหมายปีนี้คือ ‘อยากมีแฟน’ หมดยุคมานั่งรอละ เห็นคุณวี วิโอเลต เล่าจุดเริ่มต้นความรักกับเก้า แล้วรูัสึกมีไฟ


ที่ผ่านมาเราเห็นคอนเทนต์ข้อดีของการมีแฟนเป็นหมอ วิศวะ นักบัญชี ช่างภาพหรืออาชีพอะไรก็ตามที่ทุกคนคุ้นเคย วันนี้ถึงคิวของเราแล้วชาววิจัยทั้งหลาย เทรนด์ครึ่งปีหลัง 2020 มีแฟนเป็นนักวิจัยต้องมา!!


หลายคนคงนึกไม่ออกว่าคบกับนักวิจัยแล้วเป็นยังไง นักวิจัยจะมีเวลามานั่งคุยกับเราหรอ ? เอาจริง ๆ แค่เวลาพักผ่อนยังไม่มีเลย!! (ล้อเล่นนะ) ลองมาฟัง 5 ข้อดีของการมีแฟนเป็นนักวิจัย


ถึงทำงานไม่เป็นเวลา แต่ถ้ามีก็ทุ่มให้หมดตัว

โอเค อันนี้จะเรียกข้อดีก็ไม่เชิง แต่เรานับว่าเป็นข้อดีละกัน อาชีพนักวิจัย จริง ๆ แล้วสามารถจัดสรรเวลาการทำงานเองได้ ไม่เหมือนกับพนักงานประจำที่ต้องเข้างาน 9 โมงเช้า เลิก 5 โมงเย็น ดังนั้นนักวิจัยสามารถที่จัดสรรเวลาออกไปซื้อของหรือทำธุระกับคุณได้ในช่วงเวลาปกติ


ต่อให้นักวิจัยจะมีเวลาทำงานที่ออกแบบเองได้ แต่ช่วงไหนต้องลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูล หรือเขียนรายงาน คนเป็นแฟนกับนักวิจัยอาจเซ็งบ้าง เพราะเขาต้องทุ่มเวลาทั้งหมดให้งาน แต่ถ้าใครชอบไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ลองไปลงพื้นที่กับเราดูแล้วจะติดใจ


เธอไม่มีวันเบื่อ เพราะเรา Review เยอะ

ปัญหาของคนคุยช่วงแรก ๆ คือ ไม่รู้จะคุยอะไรดี แต่คุณจะไม่เจอปัญหานี้ถ้าเจอกับนักวิจัย เพราะด้วยความที่พวกเราต้องคอย “ทบทวนวรรณกรรม” และติดตามประเด็นทางสังคมต่าง ๆ อยู่ตลอด ทำให้พวกเขามีเรื่องที่อยากจะมาเล่าหรือชวนคุยเยอะมาก ๆ .


ใครมีนิสัยพูดเก่ง ชอบชวนคิดวิพากษ์วิจารณ์เนี่ยทางเรามาก หรือใครเป็นคนเงียบ ๆ ไม่ค่อยพูด แต่ชอบฟัง เราเล่าได้ทั้งวัน ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย


รายละเอียดเล็กน้อยแค่ไหน ไม่ต้องกลัวเพราะเรา ‘ช่างสังเกต’

การที่ต้องลงไปฝึกภาคสนาม เก็บข้อมูลอยู่ตลอด หรือวิเคราะห์ข้อมูลบ่อย ๆ หล่อหลอมให้เราเป็นคนช่างสังเกตสิ่งรอบตัว เพราะเวลาลงพื้นที่จริง บริบทต่าง ๆ สามารถนำมาเป็นข้อมูลในงานวิจัยได้ทั้งหมด ใครที่เคยเจอปัญหา แฟนไม่สนใจ หรืองอนแฟนแล้วแฟนไม่รู้ตัวว่าเรางอนเรื่องอะไร คุณจะไม่เจอปัญหานี้ถ้าคบกับนักวิจัย เพราะเขาจะคอยสังเกตอารมณ์ ความรู้สึก แม้กระทั่งวันนี้คุณแต่งหน้าโทนไหน วันนี้อยากกินอะไร ฯลฯ


เข้ากับคนง่าย ผ่านด่านพ่อตา แม่ยาย ญาติโกโหติกา สบาย!

หนึ่งในทักษะสำคัญของการนักวิจัยคือ ‘ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับผู้คน’ งานของเราต้องใช้การสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างเป็นประจำ ทำให้นักวิจัยต้องพบกับผู้คนจำนวนมาก และเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการ ต้องใช้ทักษะการสื่อสารอยู่บ่อย ๆ


ดังนั้นปัญหาเวลาเจอผู้ใหญ่แล้วเกร็ง หรือว่าเจอเพื่อนฝูงแฟนแล้วปรับตัวไม่ได้ ไม่กล้าพูดกับคนที่ไม่คุ้นเคย จะหมดไป เพราะสกิลพิเศษของพวกเราคือ การปรับตัวเข้ากับทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะคนแบบไหน นิสัยยังไง เราเจอมาหมดแล้ว


‘ที่ปรึกษา’ ผู้พยายามหาคำตอบ

เรื่องน่าเศร้าของเด็กสายวิจัยคือ หลายครั้งเวลามีคนคุย มักตกอยู่ในสถานะ ‘ที่ปรึกษา’ แต่ถ้ามีโอกาสคบกับนักวิจัย พูดได้เลยว่าเราสามารถคุยกันทุกเรื่องไล่ตั้งวิจารณ์หนัง ซีรีส์ ประเด็นที่กำลังเป็นกระแสสังคมในขณะนั้น ฝั่งเอเชียหรือยุโรป เราได้หมด หรือแม้แต่เรื่องไหนที่คุณสนใจแล้วหาคำตอบไม่ได้ ไม่ต้องกังวล เพราการหาคำตอบคือ งานถนัดของเรา


ทั้ง 5 ข้อที่กล่าวมา หากได้อ่านจนจบแล้ว ฝากนัก(ทำ)วิจัยไว้ให้ทุกคนพิจารณาเป็นแฟนกันบ้างนะ


Illustration by Arnon Chundhitisakul

 

721 views0 comments

Comments


bottom of page