by Piyanat Chasi
หากมองหาภาพแทนของสังคมเมืองในอเมริกายุค 20’s The Great Gatsby ถือเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนภาพสังคมในทศวรรษ 1920 ได้อย่างชัดเจนไล่ตั้งแต่โครงสร้างเศรษฐกิจตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นจากผลการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมการผลิตจนนำไปสู่สังคมและวิถีการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่
The Great Gatsby ดัดแปลงมาจากผลงานของนักเขียนชื่อดังแห่งยุคสมัยนั้น นามว่า Francis Scott Fitzgerald ผู้ซึ่งได้รับสมญานามว่าเป็นตัวแทนของยุค “หนุ่มสาวไวไฟ”
ฟิทซ์เจอราลด์บรรยายถึงทัศนคติและค่านิยมต่าง ๆ ของคนอเมริกันในวัยหนุ่มสาวได้อย่างเที่ยงตรง เจาะลึกลงไปถึงความกลัว ความสับสนกังวลใจภายใต้พฤติกรรมอันฟุ้งเฟ้อฉาบฉวยภายนอก ทำให้เขาได้รับการขนานนามว่าเป็นสัญลักษณ์ของคนหนุ่มใน “ยุคเงินใหญ่” ที่ “กินอยู่เที่ยวอย่างสำราญ” ในขณะเดียวกันเขาก็มีจิตสำนึกที่เล็งเห็นถึงความขมขื่นของโลกของคนหนุ่มสาวที่ขาดเงิน และไม่มีโอกาสที่จะได้โลดเต้นอยู่ในสังคมฟุ้งเฟ้อฉาบฉวยที่เขาได้ประสบมา
ในยุคสมัยนั้นฟิทซ์เจอราลด์กลายเป็นนักประพันธ์ที่พรรณนาถึงความแตกต่างในการใช้ชีวิตของพวกเศรษฐีกับสามัญชนได้ดีที่สุดไม่มีใครเทียบเท่า เนื่องจากเขามาจากครอบครัวที่มีฐานะและมีความทะเยอทะยาน
ฟิทซ์เจอราลด์สอดแทรกภาพชีวิตในโลกมายาของทศวรรษ 1920 ไว้ในนวนิยายทุกเรื่องของเขาเช่น เรื่อง นิยายยุคแจ๊ซ (Tales of the Jazz Age) เรื่อง The Beautiful and Damned แต่นวนิยายที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพความหรูหราฟุ้งเฟ้ออย่างไร้ความรับผิดชอบของสังคมในยุคนั้นได้ดีที่สุดคือ The Great Gatsby ค.ศ.1925
เจย์ แก็ทสบี้ พยายามไต่เต้าจากพ่อค้าเหล้าเถื่อนขึ้นมาเป็นมหาเศรษฐี เพื่อจะซื้อความสุขที่สูญไปให้กลับมาด้วยอำนาจเงิน เดซี เฟย์ นางเอกผู้ตกเป็นภรรยาของชายอื่นที่มั่งคั่งไปแล้ว เมื่อเขาจากหล่อนไปทำสงครามในยุโรป
ตัวละครหลักอย่าง เจย์ แกตสบี้ (Jay Gatsby) เป็นภาพสะท้อนของคนในยุค 20’s ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจอยากจะร่ำรวยเพื่อให้ได้มาซึ่งสาวคนรักที่หลงใหลความมั่งคั่งร่ำรวย แม้การได้มาซึ่งความร่ำรวยของแกตสบี้นั้นจะผิดกฎหมายหรือผิดศีลธรรมใด ๆ ก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรนักเพราะผู้คนในยุคสมัยนั้นก็ดำเนินชีวิตในรูปแบบเดียวกันกับแกตสบี้
กฎหมายห้ามค้าเหล้าหรือห้ามดื่มสุรานั้นเสมือนเป็นช่องทางร่ำรวยให้กับผู้คนในยุคนั้น การห้ามเสพสุรา เป็นพลังที่เร่งการปฏิวัติมารยาทและศีลธรรมที่กำเนิดจากคนอเมริกันอย่างแท้จริงคือ กฎหมายห้ามเสพสุรา รถยนต์ นิตยสารเกี่ยวกับกามารมณ์ และภาพยนตร์
กฎหมายห้ามเสพสุรา (Volstead Acts 1920) ออกมาด้วยความเชื่อมั่นว่าจะขจัดปัญหาความยากจนและอาชญากรรมเพราะสุราเป็นสาเหตุได้ ศีลธรรมจรรยาของประชาชนจะได้ดีขึ้นด้วย กฎหมายนี้ให้อำนาจรัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐใช้ร่วมกัน แต่ในทางปฏิบัติรัฐบาลมลรัฐมิได้แข็งขันในการตรวจตราผู้ละเมิดกฎหมายนี้ มักปล่อยให้เป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลกลางที่จะสอดส่องจับกุมผู้ฝ่าฝืนเป็นส่วนใหญ่ แต่รัฐบาลกลางก็มิได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่หน่วยงานปราบปรามผู้ลักลอบเสพหรือขายสุราอย่างเต็มที่
ผลที่ได้รับจากการใช้กฎหมายห้ามเสพสุราจึงตรงกันข้ามกับความมุ่งหมาย การฝ่าฝืนกฎหมายนี้กลายเป็นการหย่อนใจในยามว่างของประชาชน และมีคนไม่น้อยที่จงใจดื่มสุราเพื่อจะต่อต้านกฎหมายที่ตนเห็นว่าเป็นการบุกรุกเสรีภาพส่วนบุคคลของพลเมือง
การลักลอบนำสุราเถื่อนเข้าเมืองและร้านขายเหล้าเถื่อนมีอยู่เกลื่อนกลาดในเมืองใหญ่ หัวหน้าพ่อค้าเหล้าเถื่อนกลายเป็นผู้ที่มีอิทธิพลสำคัญในทางการเมืองและเศรษฐกิจของเมืองนั้น ๆ สงครามระหว่างแก๊งโจรผูกขาดค้าสุราเถื่อนที่ยิงกันสนั่นหวั่นไหวในท้องถนนหลวงกลายเป็นเรื่องธรรมดา จำนวนสมาชิกดื่มสุรานอกบ้านเพิ่มขึ้น ก่อนทศวรรษนี้มีเพียงพ่อกับลูกชายไปร้านสุรากันตามลำพัง แต่สมัยนี้แม่ตามไปด้วย ฝ่ายลูกสาวก็จัดค็อกเทลปาร์ตี้ดื่มบ้างเช่นกัน
เรื่องของกฎหมายห้ามขายและผลิตสุราในประเทศอเมริกาช่วงปี 1920 - 1933 ในอดีตการที่เป็นคนที่ชอบดื่มสุราจะถูกประนามว่าเป็นคนเลว เป็นคนไม่มีศีลธรรม เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็เป็นการยากมากที่จะดื่มสุรากันอย่างเปิดเผย เพราะอีกเหตุผลหนึ่งก็คือมันผิดต่อหลักศาสนา
ปี 1920 ผู้ที่สนับสนุนการห้ามขายและผลิตสุราเป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง กฎหมายการห้ามขายและผลิตสุราจึงถูกผลักดันออกมาในปี 1920 ช่วงนี้เป็นการเกิดขึ้นของเครื่องดื่มผสมที่เรียกว่าค๊อกเทล แม้มันจะหายากแค่ไหนก็ตามแต่นั่นยิ่งทำให้ความต้องการของคนที่จะดื่มมีมากยิ่งขึ้น มันทำให้ค๊อกเทลเป็นเครื่องดื่มที่มีค่า มีราคาสูงตามไปด้วยแต่คนที่ต้องการจะดื่มก็พร้อมที่จะจ่าย
“Bootlegging” คือร้านที่ลักลอบจำหน่ายสุราเถื่อนซึ่งในขณะนั้นเป็นธุรกิจที่รุ่งเรืองมาก คำว่า ”Bootlegging” เป็นคำที่มาจาก ชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมของอินเดียนแดงในอเมริกา เมื่อพวกเขาได้ลักลอบจำหน่ายสุราเถื่อนโดยการซ่อนไว้ในรองเท้าบูธและนำไปจำหน่ายให้กับลูกค้าที่เป็นชนเผ่าเดียวกัน
การทำผิดกฎหมาย ในเรื่องของการลักลอบนำเข้าสุราเถื่อนจากต่างประเทศส่วนมากจะนำมาจากยุโรปและอเมริกาใต้ มีขึ้นตามแนวชายฝั่งทะเลของอเมริกา พวกที่ลักลอบนำเข้าสุราได้มีพัฒนาการอันแยบยลมากมายที่หลบสายตาของตำรวจที่ตรวจตราอย่างหนาแน่นตามชายฝั่งโดยที่ตำรวจไม่สามารถรู้ได้เลย เช่น การใส่ปะปนมาในขยะ ใส่มาในเรือหาปลา แอบซ่อนไว้ในช่องต่าง ๆ ของเรือ ลอยมาตามกระแสน้ำบ้าง หรือแม้แต่ดึงดูดความสนใจของตำรวจด้วยวิธีอื่นใดก็ตามธุรกิจสุราเถื่อนได้พัฒนาขึ้นมาอีกมากมายตามตัณหาของนักดื่มชาวอเมริกันที่ต้องการมันมาดื่ม โดยการนำส่งถึงที่ของผู้ลักลอบขายสุราตามแต่ลูกค้าจะสั่งด้วยการใช้รถยนต์ในการเอาไปส่ง รถยนต์ที่ผู้ลักลอบใช้นั้นเครื่องยนต์ถูกแต่งให้มีความเร็วกว่ารถของตำรวจอีกด้วยก็เพื่อประโยชน์ในการหลบหนี
ในช่วงระหว่างที่มีกฎหมายห้ามขายและจำหน่ายสุรามีการนำเข้าแอลกอฮอล์ถึง 57 ล้านลิตร แต่แอลกอฮอล์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รัฐก็อนุญาตให้นำเข้ามาได้ซึ่งก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ผู้ลักลอบผลิตสุราเถื่อนนำมาใช้ผลิตสุราที่ผิดกฎหมายของตน โดยการแต่งเติมสีสัน รสชาติด้วยน้ำยา สารเคมี ในสุรา ให้ได้หน้าตาหรือลักษณะที่ใกล้เคียงกับ วิสกี้ ยิน รัม ซึ่งนั่นหมายถึงความตายจะมาเยือนผู้ที่ดื่มเข้าไป แต่ก่อนจะตายก็อาจจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ เช่น เป็นอัมพาต ตาบอด ก็ได้ ทำให้ผู้บริโภคสุราในอเมริกาเกิดความกลัวตายกันขึ้นมา
กล่าวได้ว่า การห้ามอย่างเข้มงวดต่อเรื่องสุรา ไม่ได้นำมาสู่การเลิกอย่างเด็ดขาดของประชาชน แต่กลายเป็นการเปิดช่องทางทำมาหากินที่ผิดกฎหมายให้คนบางกลุ่ม เนื่องจากยังคงมีผู้ที่ต้องการดื่มจำนวนมากอยู่ในท้ายที่สุด
อ้างอิง
โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. ประวัติศาสตร์อเมริกา. พิมพ์ครั้งที่1. กรงเทพฯ: แพร่พิทยา, 2518.
วิลาสวงศ์ นพรัตน์. ประวัติศาสตร์สังเขปของสหรัฐอเมริกาเล่ม 2. แพร่พิทยา อินเตอร์ชั่นแนล:
กรุงเทพฯ 2541
มยุรี เจริญ. ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจอเมริกา. พิมพ์ครั้งที่1. กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2522.
EPTU Machine ETPU Moulding…
EPTU Machine ETPU Moulding…
EPTU Machine ETPU Moulding…
EPTU Machine ETPU Moulding…
EPTU Machine ETPU Moulding…
EPS Machine EPS Block…
EPS Machine EPS Block…
EPS Machine EPS Block…
AEON MINING AEON MINING
AEON MINING AEON MINING
KSD Miner KSD Miner
KSD Miner KSD Miner
BCH Miner BCH Miner
BCH Miner BCH Miner