by Chanya Punyakumpol
ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยมีข่าวเรื่องการเข้าเป็นประเทศสมาชิกของ Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership หรือ CPTPP ประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจ คือเรื่องของการจำเป็นต้องลงนามในอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (International Union for the Protection of New Varieties of Plants 1991 : UPOV 1991)
เนื่องจากผู้เขียนเห็นว่าการลงรายละเอียดเรื่องของ UPOV 91 จะเป็นประโยชน์ในการพูดคุยถึงความจำเป็นในการเข้าร่วม CPTPP ในบทความนี้จึงนำเสนอรายละเอียด โดยอ้างอิงโดยตรงจาก UPOV 91 และการวิเคราะห์ส่วนตัวของผู้เขียนเองถึงในการเข้าร่วม UPOV 91 เพื่อให้ได้พูดคุยวิเคราะห์กันต่อไป
UPOV 91 หรืออนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เป็นสัญญาระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้อง “พันธุ์พืชใหม่” ที่จดสิทธิบัตรไว้ โดยพันธุ์พืชที่จะได้รับการคุ้มครองนั้นจะต้องมีคุณสมบัติครบ 4 ประการ ได้แก่
1) ความใหม่ (Novelty) โดย ณ วันที่ขอจดทะเบียน ผลผลิตจากพันธุ์พืชดังกล่าวจะต้องยังไม่เคยถูกนำไปขายหรือแจกจ่ายออก เกิน 1 ปี (ในประเทศที่ขอจดทะเบียน) หรือ 4 ปี (ในประเทศอื่น) โดยหรือได้รับอนุญาตจากผู้พัฒนาพันธุ์พืชนั้น
2) มีลักษณะเฉพาะ (Distinctness) โดยจะต้องมีความแตกต่างอย่างชัดเจน (clearly distinguishable) จากพันธุ์พืชอื่นที่มีลักษณะเฉพาะเป็นที่ทราบโดยทั่วไป (common knowledge)
3) มีความเหมือนกันในลักษณะเฉพาะ (Uniform) หมายถึง พืชหรือผลผลิตที่ได้มีลักษณะเฉพาะที่เหมือนกันอย่างมีนัยยะสำคัญ
4) มีความคงที่ (Stability) นั้นคือลักษณะเฉพาะนั้นยังคงอยู่แม้จะมีการนำไปแพร่พันธุ์ต่อหลายครั้ง (repeated propagation)
โดยหากได้รับการคุ้มครอง จะเรียกว่า Protected Variety Plant หรือ PVP ผู้พัฒนาพันธุ์พืช (breeder) จะมีสิทธิในพันธุ์พืชนั้น ๆ แต่เพียงผู้เดียว ในแง่ต่าง ๆ ดังนี้ มีสิทธิในการผลิตและแพร่พันธุ์ (reproduction) กำหนดเงื่อนไขในการนำพันธุ์พืชไปแพร่พันธุ์ต่อ จำหน่าย ส่งออก หรือนำเข้า และเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อวัตถุประส่งต่าง ๆ ข้างต้น อันรวมไปถึงผลิตผลที่ได้จากพันธุ์พืชเหล่านั้นด้วย โดยมีระยะเวลาในการคุ้มครองไม่ต่ำกว่า 20 ปี หรือ 25 ปีสำหรับต้นไม้หรือไม้เถาวัลย์ (trees or vines)
ข้อยกเว้นในการได้รับการคุ้มครอง คือการนำพันธุ์พืชไปใช้ต่อส่วนตัว โดยไม่มีวัตถุประสงค์ทางการค้า และเป็นไปเพื่อการทดลอง เพื่อนำไปพัฒนาสายพันธุ์อื่นต่อ อย่างไรก็ตาม หากพันธุ์พืชที่นำไปพัฒนาต่อนั้น จำเป็นต้องได้รับการพัฒนามาจากพันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครอง (essentially derived) เท่านั้น ข้อยกเว้นนี้จะไม่สามารถนำมาใช้ได้ อย่างไรก็ตามรัฐสามารถจำกัดสิทธิของผู้พัฒนาพันธุ์พืชได้หากเป็นไปเพื่อสาธารณะประโยชน์ (public interest) แต่ก็มีข้อกำหนดว่า ในกรณีดังกล่าว ผู้พัฒนาพันธุ์พืชจะต้องได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม
หากพิจารณาดูแล้ว ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกใน UPOV 91 คงหนีไม่พ้นผู้ที่มีศักยภาพในการพัฒนาสายพันธุ์พืชใหม่ ๆ และสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมจากการเป็นเจ้าของสายพันธุ์ ทั้งนี้เกษตรกร ในฐานะผู้ใช้พันธุ์พืช เพื่อการผลิต อาจไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากพันธุ์พืชที่ใช้อยู่ไม่ได้รับการคุ้มครองอยู่แล้ว หรืออาจเสียประโยชน์เนื่องจากไม่สามารถใช้พันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครองได้
ประเด็นคำถามที่ต้องตอบก่อนประเทศไทยจะเข้าเป็นประเทศสมาชิกของ CPTPP และลงนามใน UPOV 91
ในปัจจุบันเกษตรกรไทยมีการพึ่งพาพันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครองจาก UPOV 91 หรือมากแค่ไหน หากเทียบกับพันธุ์พืชดั้งเดิม หรือที่พัฒนาขึ้นเอง
รัฐจะมีฐานข้อมูลพันธุ์พืชพื้นเมืองที่ครอบถ้วนเพียงใด ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ใช้เกิดกรณีการนำพันธุ์พืชพื้นเมืองไปพัฒนาต่อและถูกผูกขาดต่อไป (ป้องกันการอ้างว่าพันธุ์พืชที่พัฒนามานั้นไม่ได้จำเป็นต้องได้รับการพัฒนามาจากพันธุ์พืชพื้นเมือง (essentially derived)) ซึ่งจะทำให้เกษตรกรอาจนำพันธุ์พืชดังกล่าวไปใช้ต่อไม่ได้
รัฐจะมีแนวนโยบายการส่งเสริมให้มีผู้พัฒนาพันธุ์พืชใหม่ หรือส่งเสริมศักยภาพของเกษตรกรให้เป็นผู้พัฒนาพันธุ์พืช เพื่อจดทะเบียนเป็น PVP ยกระดับประเทศจากผู้ส่งออกผลผลิตทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว เป็นผู้ส่งออกพันธุ์พืชควบคู่ไปด้วย หรือไม่ อย่างไร
รัฐจะมีแนวนโยบายสนับสนุนให้เกษตรกรร่วมมือกับผู้พัฒนาพันธุ์พืช เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันได้หรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้การป้องกันการผูกขาดในพันธุ์พืช จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มศักยภาพผู้พัฒนาพันธุ์พืช ไม่ให้ผูกขาดอยู่กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และให้มีความหลากหลายมากที่สุด เพื่อให้ตลาดพันธุ์พืชมีทางเลือกมากกว่ากลุ่มทุนผูกขาด โดยอาจพิจารณาสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถพัฒนาพันธุ์พืชเอง และเป็นเจ้าของพันธุ์พืชต่อไป
ทั้งนี้ หากประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก CPTPP อาจมีระยะเวลา 3 ปีก่อนที่ UPOV 91 จะมีผลบังคับใช้ คำถามสำคัญคือ รัฐจะมีนโยบายที่ชัดเจน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกรผู้ใช้พันธุ์พืช ตามคำถามข้างต้นได้ภายใน 3 ปีดังกล่าว อย่างเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ ในทางกลับกัน หากรัฐไม่มีแนวทางการดำเนินการอย่างชัดเจน ข้อดีที่จะได้จาก UPOV 91 ก็คงไม่เกิดขึ้น และข้อเสียก็ยิ่งมีทวีคูณ
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนนำเสนอแนวทางการลดผลกระทบจาก UPOV 91 จากประเทศสมาชิกของ CPTPP ได้แก่ ประเทศนิวซีแลนด์ โดยตาม Annex 18-A ของ CPTPP ประเทศนิวซีแลนด์ มีทางเลือกสองทางที่เกี่ยวข้องกับ UPOV 91 ได้แก่ 1) เข้าร่วมในอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 91) หรือ 2) จัดทำกฎหมายภายในประเทศที่ “ให้ผล” (give effect) เท่าเทียมกับ UPOV 91 แต่ไม่จำเป็นต้องทำตาม UPOV 91 ตราบเท่าที่มีความจำเป็นในการปกป้องพันธุ์พืชพื้นเมือง โดยที่มาตราการในการปกป้องพันธุ์พืชพื้นเมืองจะต้องไม่เป็นการใช้กฎหมายตามอำเภอใจ (arbitrary) หรือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่มีเหตุผลความจำเป็น (unjustified discrimination) ต่อประเทศสมาชิกอื่น อีกประเด็นที่สำคัญคือ ข้อยกเว้นดังกล่าวของประเทศนิวซีแลนด์ จะไม่สามารถนำมาเป็นประเด็นในกระบวนการระงับข้อพิพาท (dispute settlement) ได้ แน่นอนในการเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิก CPTPP แต่ละประเทศสามารถเจรจาต่อรองเพื่อเป็นข้อยกเว้นในแต่ละกรณีได้ แต่จะประสบความสำเร็จในการเจรจาขนาดไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ความใหม่ (Novelty): Article 6 of UPOV 91
ผู้พัฒนาพันธุ์พืช: เป็นที่น่าสังเกตว่า หากมีการแจกจ่ายนำไปใช้ โดยผู้พัฒนาพันธุ์พืชดังกล่าว “ไม่ได้อนุญาต” หรือ “ไม่ได้รับรู้มาก่อน” ข้อกำหนดเรื่องระยะเวลาก็ไม่มีความจำเป็นต่อไป
มีลักษณะเฉพาะ (Distinctness): Article 7 of UPOV 91
มีความเหมือนกันในลักษณะเฉพาะ (Uniform): Article 8 of UPOV 91
มีความคงที่ (Stability): Article 9 of UPOV 91
Protected Variety Plant: Article 14(1)
ข้อยกเว้นในการได้รับการคุ้มครอง: Article 15
พิจารณาข้อยกเว้นในขอบเขตการคุ้มครอง Article 14(5)(i): varieties which are essentially derived from the protected variety, where the protected variety is not itself an essentially derived variety
แหล่งอ้างอิง
Illustration by Arnon Chundhitisakul
Comentarios