top of page
Writer's pictureTSIS

Talk with ภัทรพงษ์ แสงไกร - อาจารย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ

by TSIS Team

The TSIS ชวนคุณมาสนทนากับ ภัทรพงษ์ แสงไกร นักศึกษาปริญญาเอกที่มีประสบการณ์การทำงานด้านกฏหมายระหว่างประเทศ เรามาฟังเรื่องราวการทำงานวิจัยในด้านกฎหมายระหว่างประเทศและการให้คำแนะนำในประเด็นต่าง ๆ ที่ได้จากประสบการณ์การเรียน การทำวิทยานิพนธ์ รวมทั้งแนะนำหัวข้อวิจัยที่น่าสนใจในปัจจุบันและพัฒนาการของกฎหมายที่น่าสนใจ


TSIS: แนะนำตัวหน่อยว่า ชื่ออะไร เป็นใครมาจากไหน ประสบการณ์เรียนที่ผ่านมา

ชื่อภัทรพงษ์ แสงไกร สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยโตเกียว และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทด้านสิทธิมนุษยชนจาก LSE สหราชอาณาจักร และสาขากฎหมายระหว่างประเทศจาก Graduate Institute Geneva ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนี้ ลาศึกษาต่อเพื่อศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่ Graduate Institute Geneva



TSIS: ช่วยเล่าประสบการณ์การทำงานทั้งงานวิจัยและงานที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ย้อนไปตั้งแต่ที่อยู่คณะนิติศาสตร์ก่อนลามาศึกษาต่อ มีประสบการณ์การทำวิจัยอยู่ 4 โครงการ โครงการแรกเป็นการทำวิจัยเพื่อเสริมหลักสูตรและเสริมเนื้อหาที่ใช้สอนอยู่คือ เรื่องการฟ้องคดีในศาลโลก โดยรัฐที่ไม่ได้รับความเสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดี อาจเรียกว่าเป็นคดีประเภทใหม่ที่กำลังเริ่มมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ


โครงการถัดมาเป็นงานวิจัยที่ทำให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาฉบับหนึ่งเกี่ยวกับสิทธิคนพิการ ที่เปิดช่องให้คนพิการในประเทศไทยที่คิดว่าตนเองถูกละเมิดสิทธิ์ สามารถร้องเรียนไปสู่คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในระดับสากลที่จัดตั้งขึ้นตามสนธิสัญญาได้


ส่วนอีก 2 โครงการ เป็นความร่วมมือระหว่างอาจารย์ในคณะและนอกคณะ ทำเรื่องการแก้ไขกฎหมายทั้งสองโครงการ โครงการแรกเป็นเรื่องการรับรองเพศของคนที่ผ่าตัดแปลงเพศ ส่วนอีกโครงการเป็นเรื่องการทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับการค้าประเวณีในประเทศไทย



TSIS: ช่วยขยายความเนื้อหาวิจัยในแต่ละเรื่องได้ไหม เพราะอะไรถึงเป็นงานวิจัยที่น่าสนใจ

โครงการแรกสุดที่เกี่ยวกับการฟ้องคดีในศาลโลกโดยรัฐไม่ได้รับความเสียหาย สาเหตุที่เริ่มต้นต้องย้อนไปประมาณ 10-20 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีรัฐที่นำคดีมาสู่ศาลโลกโดยที่รัฐนั้น ๆ อาจไม่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศโดยรัฐอื่น


ตัวผมเองเข้าไปศึกษาเรื่องอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิคกฎหมายพอสมคว โดยปกติแล้วบุคคลจะฟ้องบุคคลอื่นได้ จะต้องถูกละเมิดสิทธิหรือได้รับความเสียหายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้นประเด็นที่น่าสนใจคือ หากเราเข้าไปดูพัฒนาการกฎหมายระหว่างประเทศในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการฟ้องคดีที่รัฐที่ไม่ได้รับความเสียหายโดยตรงสามารถมาฟ้องคดีได้ในศาลโลก ซึ่งนับว่าเป็นการขยายหลักกฎหมายที่มีอยู่เดิมพอสมควร


ยกตัวอย่างคดีที่หลายคนน่าจะรู้จักคือ คดีที่ประเทศแกมเบีย ฟ้องคดีในศาลโลกว่าพม่ากระทำการทำลายเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ซึ่งขัดต่ออนุสัญญาต่อต้านการทำลายเผ่าพันธุ์ เราจะเห็นได้ชัดว่าตามรูปคดี แกมเบียเองไม่ได้รับความเสียหายอะไร เรื่องที่เกิดขึ้นแทบจะเป็นเรื่องภายในของประเทศพม่าระหว่างชาวโรฮิงญากับรัฐบาลพม่า ในกรณีนี้ทำไมประเทศเล็ก ๆ อย่างแกมเบีย จึงสามารถมาฟ้องคดีได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากในแง่ของข้อกฎหมาย และในเรื่องระดับนโยบายเองก็เป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะหากกฎหมายยอมให้รัฐนี้สามารถมาฟ้องคดีโดยที่ไม่ได้รับความเสียหายโดยตรง ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า จะเกิดปัญหาในระดับนโยบายเพราะอาจจะมีการนำคดีมาสู่ศาลมากจนเกินไป



TSIS: อีก 3 โครงการที่เหลือ มีประเด็นอะไรบ้างที่ผู้ฟังสามารถนำไปพัฒนาต่อหรือน่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง

โครงการวิจัยเรื่องกลไกตามสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนที่เปิดช่องให้คนที่คิดว่าตัวเองถูกละเมิดสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามสนธิสัญญา สามารถร้องเรียนไปยังคณะกรรมการในระดับสากล ในระดับระหว่างประเทศได้ จริงๆ แล้ว ปัจจุบัน ประเทศไทยเราเป็นภาคีอยู่ทั้งหมด 3 ฉบับ ได้แก่ สนธิสัญญาเกี่ยวกับสิทธิคนพิการ สิทธิเด็ก และสิทธิสตรี ในช่วงที่กำลังวิจัยได้ลองเข้าไปค้นดูว่ามีการร้องเรียนจากคนไทยหรือคนที่อยู่ในประเทศไทยไปหรือยัง ผลปรากฏว่าไม่มีเลย จึงลองวิเคราะห์ต่อไปในเบื้องต้นว่าทำไมถึงไม่มี และตั้งเป็นประเด็นปลายเปิดไว้ในตัวงานวิจัยด้วย


ในส่วนนี้ คิดว่าเป็นประเด็นหนึ่งที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้ว่า ทำไมถึงยังไม่มีการใช้กลไกนี้ มีปัญหาในแง่เทคนิคอะไรไหม เช่น เรื่องภาษา เรื่องการรับรู้ว่ามีกลไกนี้อยู่ น่าจะนำไปศึกษาในเชิงลึก ซึ่งข้อค้นพบที่ได้อาจนำมาสู่ข้อค้นพบอีกชุดหนึ่งว่า นโยบายหรือว่ากลไกพวกนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีปัญหาอะไรหรือไม่ สามารถปรับปรุงได้อย่างไรบ้างให้คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น


ส่วนเรื่องการรับรองสถานะทางเพศ โครงการวิจัยจะเน้นเรื่องการแก้ไขกฎหมาย ตัวโครงการวิจัยทำไปถึงขั้นการยกร่างตัวกฎหมายด้วยข้อเสนอ หลักคิดของทีมวิจัย ณ ตอนนั้น ทีมวิจัยเห็นด้วยว่าผู้ที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้ว ควรที่จะได้รับการรับรองเพศตามที่บุคคลนั้น ๆ เลือก ไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิง สามารถกำหนดเพศได้ตามที่แปลงเพศไป แต่ก็มีข้อยกเว้นอื่นๆ จำนวนหนึ่งให้ด้วย เช่น เหตุผลด้านเศรษฐกิจ เหตุผลด้านศาสนา เป็นต้น เหล่านี้ แม้ไม่ได้มีการแปลงเพศ ก็อาจจะขอให้ได้รับการรับรองเพศได้


งานวิจัยเรื่องนี้ เรามีอาจารย์จากคณะสังคมวิทยามาช่วยเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อหาความเห็นของประชาชนทั่วไป ส่วนอาจารย์จากนิติศาสตร์ ก็ดูกฎหมายเปรียบเทียบจากหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก ตัวผมเองรับผิดชอบกฎหมายลักษณะนี้ในทวีปเอเชีย โดยเริ่มจากการสำรวจให้มากที่สุดว่าแต่ละประเทศมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง หลังจากนั้นจะเลือกเจาะเฉพาะประเทศที่ค่อนข้างมีรายละเอียดให้ศึกษาอย่างประเทศญี่ปุ่น ในแง่การออกแบบนโยบายเรื่องการรับรองเพศของคนผ่าตัดแปลงเพศ และในแง่การยกร่าง

หากอยากจะต่อยอดโครงการนี้ ยกตัวอย่างประเด็นหนึ่งให้เห็นจากตอนไปนำเสนองานเพื่อรับฟังความเห็นของบุคคลทั่วไป มีผู้แสดงความคิดเห็นว่า “จริง ๆ แล้วไม่ควรที่จะกำหนดให้มีเงื่อนไขว่าต้องผ่าตัดแปลงเพศก่อนด้วยซ้ำ ควรจะให้สิทธิกำหนดเพศได้เองเหมือนหลาย ๆ ประเทศในลาตินอเมริกา” อันนี้เป็นประเด็นระดับหลักคิด ระดับทฤษฎี บางครั้งเรียกว่าแนวคิดแบบ self-determination ก็อาจจะนำมาศึกษาเชิงลึกต่อไปได้ในมิติกฎหมาย อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือคำว่า “แปลงเพศ” ทำแค่ไหนถึงจะเรียกว่าแปลงเพศ หรือแค่ไหนถึงจะเรียกว่าแปลงเพศแล้วตามความหมายของร่าง พ.ร.บ. นี้ ต้องผ่าตัดเท่านั้นหรือไม่ ดังนั้น ในส่วนนี้จะมีรายละเอียดในระดับเทคนิคให้ไปดูต่อได้ด้วยไม่ใช่แค่ระดับทฤษฎีหลักคิดอย่างเดียว มีประเด็นให้คิดต่อทั้ง 2 ระดับ


เรื่องสุดท้ายคือ การค้าประเวณี อันนี้เป็นงานวิจัยเพื่อทบทวน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ทีมคณะวิจัยก็เสนอออกไปว่าการค้าประเวณีควรถูกกฎหมายในประเทศไทย และควรถือเป็นสิทธิในการประกอบอาชีพ ซึ่งก็แน่นอนว่าหลายๆ คนอาจจะมองว่าเป็นข้อเสนอที่มีความก้าวหน้ามากเกินไป ซึ่งต้องบอกว่าทีมวิจัยมีการเก็บข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อรวบรวมความเห็นของประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับประเด็นนี้ด้วย เหมือนโครงการวิจัยการรับรองเพศ



TSIS : คำถามถัดมา ตอนนี้ทำงานวิจัยเรื่องอะไร แล้วทำไมถึงสนใจเรื่องนี้ คิดว่ามีแง่มุมอะไรที่สำคัญกับการใช้กฎหมายระหว่างประเทศ

ตอนนี้ทำวิจัย เรื่องการตีความสนธิสัญญาโดยภาคีแห่งสนธิสัญญา เหตุผลที่สนใจเพราะเป็นประเด็นที่มีปัญหาในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันและมีประเด็นที่ให้คิดในระดับทฤษฎีด้วย


ประเด็นปัญหาของหัวข้อนี้เริ่มจากเวลาเราพูดถึงสนธิสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ แน่นอนว่า รัฐที่ทำสนธิสัญญาจะต้องตีความว่าหน้าที่ที่ตัวเองต้องทำตามสนธิสัญญามีอะไรบ้าง สิทธิที่เกิดขึ้นตามสนธิสัญญามีอะไรบ้าง เพราะรัฐที่เข้าเป็นภาคีต้องนำไปดำเนินการหรือต้องปฏิบัติตาม ดังนั้น บทบาทแรกของรัฐที่เข้าไปเป็นภาคีคือการตีความสนธิสัญญา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นประมาณ 30 ปีที่ผ่านมาในระดับระหว่างประเทศก็คือ นอกจากตัวรัฐที่เข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาแล้ว มีองค์กรอื่น ๆ ที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการตีความสนธิสัญญา เช่น ศาล อนุญาโตตุลาการ หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่ตั้งขึ้นตามสนธิสัญญา ปัญหาที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติก็คือ กรณีที่องค์กรอื่น ๆ ที่ไม่ใช่รัฐภาคี ตีความแตกต่างไปจากที่รัฐภาคีเข้าใจหรือว่าตีความ ตัวรัฐภาคีเองจะทำอะไรได้บ้าง


เราจะเห็นปัญหานี้เกิดขึ้นในหลาย ๆ ระบอบในกฎหมายระหว่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายการลงทุนระหว่างประเทศ ที่ตอนนี้อาจจะได้ยินกันมากขึ้น เพราะรัฐบาลไทยถูกบริษัทออสเตรเลียเรียกร้องค่าเสียหายโดยใช้กลไกอนุญาโตตุลาการ

(กลไกอนุญาโตตุลาการ หมายถึง การระงับข้อพิพาททางเลือกนอกศาล เป็นกระบวนการที่คู่พิพาทตกลงกันให้บุคคลที่สามที่มีความเป็นกลางและเป็นอิสระ และมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องที่พิพาทนั้นเป็นผู้ทำการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทดังกล่าว โดยคู่พิพาทจะต้องยอมรับคำวินิจฉัยชี้ขาดและผูกพันที่จะปฏิบัติตามคำชี้ขาดนั้นด้วย)

ถ้าเราตามไปดูฐานทางกฎหมายจะเห็นว่า มันมาจากความตกลงระหว่างประเทศด้านการค้าระหว่างไทยกับออสเตรเลีย ที่มีเนื้อหาครอบคลุมไปถึงการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งกลไกลักษณะนี้เปิดช่องให้นักลงทุนระหว่างประเทศสามารถใช้กลไกการอนุญาโตตุลาการได้ และในปัจจุบันมีประมาณ 3,000 กว่าฉบับ และมีคดีปรากฏมากมาย ในปัจจุบันน่าจะประมาณ 1,000 คดีแล้ว ดังนั้น จะเห็นว่า ไม่ใช่แค่รัฐที่จะมีบทบาทในการตีความสนธิสัญญา นักลงทุนที่ได้รับประโยชน์กับตัวสนธิสัญญาเองก็มีบทบาทในการตีความ โดยเฉพาะในชั้นอนุญาโตตุลาการ ตัวองค์คณะอนุญาโตตุลาการเองก็ยิ่งมีบทบาทสำคัญในการชี้ขาดว่าสิทธิหน้าที่ตามสนธิสัญญามีอะไรบ้าง ในสถานการณ์ ถ้ารัฐไม่พอใจกับการตีความของตัวแสดงอื่นๆ จะทำอะไรบ้างได้


หรือเรื่องสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนที่เราได้ยินอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะในกรอบ UN โดยทั่วไปแล้วสนธิสัญญากลุ่มนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ในการติดตามการปฏิบัติตามพันธกรณีของรัฐภาคี อย่างที่พูดถึงเมื่อสักครู่ในกรณีของสนธิสัญญาสิทธิคนพิการ คณะกรรมการเหล่านี้ก็ได้ตีความสนธิสัญญามาโดยตลอด


หรือจากตอนนี้เราอยู่เจนีวา ก็คงต้องพูดถึงการค้าระหว่างประเทศในกรอบ WTO ก็จะมีองค์กรระงับข้อพิพาทที่มีอำนาจในการตีความ หรือ กฎหมายทะเลในกรอบของอนุสัญญาองค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยกฎหมายทะเล ก็จะมีศาลทะเลที่มีอำนาจในการตีความอนุสัญญาฯ โดยเฉพาะ


จะเห็นได้ว่าในหลาย ๆ สาขาของกฎหมายระหว่างประเทศ นอกเหนือจากรัฐภาคีแล้ว ก็จะมีองค์กรอื่น ๆ ที่เข้ามามีบทบาทอย่างยิ่งในการตีความ และเกิดปัญหาในทางปฏิบัติที่มีลักษณะคล้ายกันก็คือ องค์กรอื่น ๆ ที่ไม่ใช่รัฐภาคี ตีความแตกต่างไปจากที่รัฐภาคีเข้าใจหรือว่าตีความ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ยกร่างสนธิสัญญา ภาคีหรือรัฐที่อยากเข้าเป็นภาคี ยกร่างสนธิสัญญาด้วยความเข้าใจแบบหนึ่ง หรือพอสนธิสัญญามีผลบังคับใช้ แล้วองค์กรอื่น ๆ ไปตีความในลักษณะที่เกินไปจากความคาดหมายของรัฐภาคี แล้วรัฐภาคีสามารถจะทำอะไรได้บ้าง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ รัฐภาคีสามารถจะควบคุมสิทธิ หน้าที่ และเนื้อหาของสนธิสัญญาได้อย่างไรบ้าง อันนี้ก็เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ


ส่วนปัญหาในทางทฤษฎีที่กำลังพยายามหาคำตอบอยู่ก็คือ เวลาที่เราพูดถึงเรื่องการตีความกฎหมาย ไม่ใช่แค่การตีความสนธิสัญญา เรามักจะพูดถึงหลักการตีความ หรือกฎเกณฑ์ในการตีความว่า การตีความต้องมีหลักอย่างไรบ้าง ต้องดูตัวบท ดูเจตนารมณ์ ดูปัจจัยอื่นๆ แต่ถ้าดูจากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากหัวข้อที่ได้อธิบายไปเมื่อสักครู่ จะเห็นได้ว่าผู้ที่ตีความกฎหมายน่าจะเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดความหมายของกฎหมายมากกว่าหลักการตีความเสียอีก เพราะไม่ว่าตัวรัฐภาคีเอง หรือศาล หรือองค์กรอื่นๆ ก็มักจะอ้างว่าใช้หลักการตีความเหมือนกัน แต่กลับได้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน ตรงนี้ เป็นประเด็นที่กำลังขบคิดอยู่ว่าจะสามารถพัฒนาไปในเชิงทฤษฎีได้มากน้อยแค่ไหน และพยายามเอาคอนเซปท์ เอาเครื่องมือจากนิติปรัชญา จากรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากสังคมวิทยาเข้ามาช่วยคิด ช่วย frame ความคิด



TSIS : จากประสบการณ์ทั้งหมดที่เรียนและทำงานมา ดูเหมือนว่าจะทำงานในสายกฎหมายระหว่างประเทศมาโดยตลอด พี่คิดว่าพัฒนาการของการศึกษากฎหมายระหว่างประเทศ มีความเคลื่อนไหวหรือการเปลี่ยนแปลงใดที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่สนใจกฎหมายระหว่างประเทศ ?

ถ้าเป็นเรื่องความเคลื่อนไหว วิวัฒนาการที่น่าสนใจในงานวิจัยของกฎหมายระหว่างประเทศในระยะ เวลา 20 ปีที่ผ่านมา มี 2 เรื่องที่น่าสนใจอย่างมาก


เรื่องแรกคือ การเติบโตของการศึกษาวิจัยประวัติศาสตร์กฎหมายระหว่างประเทศ เรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจนอย่างมาก โดยเฉพาะในระดับคนทำงานวิจัย เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่แค่นักกฎหมายระหว่างประเทศที่สนใจประวัติศาสตร์ มีนักประวัติศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเข้ามาทำงานในด้านนี้ด้วย มีการทำงานข้ามสาขาวิชา ซึ่งทำให้มีการหยิบยืมแนวความคิด เครื่องมือ จากสาขาอื่น ๆ เข้ามาช่วยศึกษาวิจัย มีการลงไปค้นเอกสารชั้นต้นอย่างลึกซึ้งจากหลาย ๆ ประเทศ และมีการก่อตั้งวารสารเฉพาะทางขึ้นมาด้วย


ความน่าสนใจในพัฒนาการนี้ คิดว่ามีอยุ่ 2 มิติ มิติแรกคือในแง่เนื้อหา ก็จะมีงานวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของกฎหมายในแต่ละสาขาทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น กฎหมายการลงทุน กฎหมายสิทธิมนุษยชน กฎหมายอาญาระหว่างประเทศ ฯลฯ ซึ่งความน่าสนใจอยู่ที่ จะมีการเขียนประวัติศาสตร์ฉบับใหม่ สร้างประวัติศาสตร์กระแสใหม่ มีการสร้างเรื่องเล่าฉบับใหม่ขึ้นมาท้าทายประวัติศาสตร์ฉบับเดิม ขอยกตัวอย่างงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากเกี่ยวกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เราอาจเคยได้ยินกันว่า ถ้าดูในแง่ข้อความคิดแล้ว เรื่องสิทธิมนุษยชนสามารถโยงไปได้ถึงหลายร้อยปี ไปถึงยุค Enlightenment (ยุคเรืองปัญญา) หรือไปจนถึงความคิดเกี่ยวกับสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ หรืออาจจะสืบสาวไปถึงความคิดของยุคกรีกโบราณเลยก็มี แต่ในปัจจุบัน มีนักประวัติศาสตร์ที่เสนอว่า ถ้าดูในระดับการเคลื่อนไหวทางสังคม หรือระดับ Impact ของความคิดที่เกิดขึ้นต่อสังคมจริง ๆ “สิทธิมนุษยชน” น่าจะย้อนไปได้ไม่เกิน 50 ปีที่ผ่านมาพูดง่าย ๆ ก็คือ Concept เรื่องสิทธิมนุษยชนได้พัฒนากลายมาเป็นภาษา เป็นเครื่องมือของที่คนใช้ทำงานกันจริง ๆ น่าจะราวๆ เป็นยุค 60 - 70 นี่เอง ถามว่า ยุคนี้เกิดอะไรขึ้น ยุค 60-70 นี้เป็นช่วงที่หลายประเทศที่เคยเป็นประเทศอาณานิคมเริ่มประกาศอิสรภาพ ก่อตั้งเป็นประเทศใหม่ มีการจัดทำสนธิสัญญาสำคัญ 2 ฉบับ ในกรอบ UN ก็คือ ICCPR และ ICSER จัดทำขึ้นในปี ค.ศ.1960 มี NGOs ด้านสิทธิมนุษยชน ที่ทำงานข้ามชาติ ทำงานระหว่างประเทศอย่าง Amnesty International เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในช่วงนี้จนได้รับรางวัลโนเบล ประเทศมหาอำนาจอย่างอเมริกา ก็เริ่มชูหลักสิทธิมนุษยชนมาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าการก่อตัว หรือว่าการเปลี่ยนแปลงจากความคิด ในระดับความคิดมาสู่ในระดับปฏิบัติมันเกิดขึ้นจริง ๆ แค่ไม่เกิน 50 ปีที่ผ่านมานี้เอง



TSIS : ถ้าสมมติว่าให้แนะนำอ่านงานเชิงนี้ ประวัติศาสตร์กฎหมาย มีใครที่น่าสนใจติดตามบ้าง

ถ้าสนใจด้านสิทธิมนุษยชน ก็แนะนำหนังสือชื่อ Last Utopia ของ Samuel Moyn ที่พูดถึงเมื่อสักครู่ ถ้าสนใจด้านกฎหมายระหว่างประเทศ แนะนำงานของอาจารย์ Martti Koskenniemi ปรมาจารย์กฎหมายระหว่างประเทศชื่อดัง และน่าจะเป็นคนหนึ่งที่ทำให้เรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายระหว่างประเทศเป็นที่สนใจแพร่หลายมากขึ้น ผลงานที่ห้ามพลาดชื่อ “The Gentle Civilizer of Nations: The Rise and Fall of International Law” ซึ่งเล่าถึงการปรากฏตัวและการเสื่อมตัวลงของกฎหมายระหว่างประเทศ แน่นอนว่าเป็นงานที่พยายามสร้างเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ฉบับใหม่เวลาเราพูดถึงกฎหมายระหว่างประเทศเรามักจะย้อนไปถึงนักคิด นักเขียนในอดีตสักช่วงประมาณ 400 - 500 ปีก่อน




ผู้ที่เคยศึกษากฎหมายอาจเคยได้ยินชื่อของ Hugo Grotius ว่าเป็นบิดาของกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ในทัศนะของอาจารย์ Koskenniemi ท่านมองว่ากฎหมายระหว่างประเทศอย่างที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน “เกิดขึ้นมา” ในปลายศตวรรษที่ 19 เท่านั้น


ถามว่าท่านดูอย่างไร ท่านไม่ได้ดูแค่เนื้อหาของกฎหมายหรือความคิดของตัวกฎหมาย ซึ่งตรงนี้ คล้ายๆ กับประวัติศาสตร์กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่พูดถึงเมื่อสักครู่ ท่านเสนอว่า เวลาเราพูดถึงกฎหมายเราไม่พูดถึงแค่ตัวความคิดหรือเนื้อหาของกฎหมาย แต่เราควรพูดถึงวิชาชีพนักกฎหมายด้วยว่า วิชาชีพที่เรียกว่านักกฎหมายระหว่างประเทศเริ่มก่อตัวเมื่อไหร่ และผู้ที่ทำงานเป็นนักปฏิบัติจริง ๆ นั้น เริ่มมองว่าตัวเองเป็น “นักกฎหมายระหว่างประเทศ” ตั้งแต่เมื่อไหร่ ไม่ใช่แค่นักกฎหมายในสาขาอื่น หรือว่าเป็นนักการทูต ซึ่งตรงนี้ ถ้าดูหลักฐานทางประวัติศาสตร์ จะเห็นว่า อยู่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เท่านั้น ส่วนนักคิด นักเขียน หรือนักกฎหมายที่เขียนงานเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศก่อนหน้านี้ แทบจะไม่มีการเรียกตัวเองว่าเป็น “นักกฎหมายระหว่างประเทศ” เลย หลักฐานสำคัญคือมีการก่อตั้งสมาคมหรือว่าสถาบันขึ้น 2 แห่ง ในปี ค.ศ.1873 ซึ่งยังมีอยู่ในปัจจุบัน คือ International Law Association กับ Institute of International Law เป็นการรวมตัวกันของนักกฎหมายที่สนใจกฎหมายเปรียบเทียบและกฎหมายระหว่างประเทศ และมีการก่อตั้งวารสารขึ้นมาโดยเฉพาะ นอกจากนี้ แล้วท่านเข้าไปศึกษา ย้อนดูว่าแต่ละคนที่เป็นสมาชิกนั้นมีบทบาท มีความคิดไร มองกฎหมายระหว่างประเทศว่าเป็นอย่างไร และคนเหล่านั้นวางพื้นฐานให้ระบบกฎหมายระหว่างประเทศอย่างที่เราใช้กันในปัจจุบันอย่างไรบ้าง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ หรือ Gustave Rolin-Jacquemyns ซึ่งเข้ามาช่วยปฏิรูปกฎหมายและในระบบศาลในสยามด้วย



TSIS : ย้อนกลับไปวิวัฒนาการที่น่าสนใจในงานวิจัยของกฎหมายระหว่างประเทศอีกระดับที่น่าสนใจ ?

เมื่อสักครู่เราพูดถึงความน่าสนใจของงานวิจัยประวัติศาสตร์ระหว่างประเทศว่ามี 2 มิติ ก่อนหน้าพูดถึงเนื้อหากฎหมาย อีกมิติหนึ่งคือในแง่ Methodology (วิธีวิทยา) ตอนนี้ มีข้อถกเถียงที่น่าสนใจมากในวงการประวิติศาสตร์กฎหมายระหว่างประเทศคือ เวลาเราพูดถึงประวัติศาสตร์ทางความคิด ผู้ที่ศึกษาน่าจะเคยได้ยินว่า เราจะต้องศึกษาข้อความคิดที่เกิดขึ้นในอดีตนบริบทนั้น ๆ ของตัวความคิดเอง เราไม่ควรมองด้วยแว่นของปัจจุบันหรือบริบทปัจจุบัน แต่เราควรทำความเข้าใจในบริบทนั้น ๆ เพื่อไม่ให้เป็นการหลงยุคหลงสมัย ซึ่งอาจจะทำให้เข้าใจผิดพลาดไปได้ เช่น คำว่า “สิทธิมนุษยชน” ในปัจจุบันอาจต่างจากสิทธิมนุษยชนเมื่อ 400 - 500 ปี เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจบริบททางสังคมทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น อันนี้อาจจะเป็นกรอบทฤษฎีกระแสหลักของคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์ หรือว่ากรอบความคิดหลักของคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์ทางความคิด


แต่ในแวดวงของการศึกษาประวัติศาสตร์กฎหมายระหว่างประเทศในปัจจุบัน กำลังมีข้อถกเถียงกันว่าจริง ๆ แล้วกรอบทฤษฎีอันนี้เอามาใช้กับสาขานิติศาสตร์ได้หรือไม่ ข้อความคิดที่บอกว่าต้องดูบริบทที่ความคิดนั้นเกิดขึ้น เอามาใช้กับประวัติศาสตร์กฎหมายหรือประวัติศาสตร์ข้อความคิดทางกฎหมายได้หรือไม่


เพราะถ้าเราดูวิธีการทำงานของนักกฎหมาย จะเห็นได้ว่าสิ่งหนึ่งที่นักกฎหมายถูกฝึกมาตลอดก็คือการไปดูข้อความคิดเก่า ๆ ซึ่งบางทีอาจจะเก่าแก่หลายร้อยปี แล้วเอามาใช้กับข้อเท็จจริงหรือสถานการณ์ในปัจจุบัน เช่น เอกสารฉบับหนึ่งที่อาจจะเคยได้ยินชื่อ คือ Magna Carta ซึ่งเป็นเอกสารเมื่อ 800 ปีก่อน แต่นักกฎหมายมักจะนับเป็นต้นกำเนิดของแนวคิด Rule of Law และพยายามทำความเข้าใจ Concept ของ Rule of Law ที่ใช้ในปัจจุบัน ด้วยการโยงไปถึงเอกสารหรือความคิดในอดีตหลายร้อยปีที่ผ่านมา และยังเอาใช้ตีความกฎหมายที่ใช้บังคับในปัจจุบัน


ดังนั้น จะเห็นว่า ถ้าเราดูวิธีการคิด ดูนิติวิธี ดูวิธีการทำงานของนักกฎหมาย จะเห็นได้ว่า นักกฎหมายมักจะเอาความคิดในอดีตมาใช้ในบริบทปัจจุบันโดยไม่ได้มองว่ามันปัญหา ไม่ได้มองว่าเป็นการหลงยุค หลงสมัย ดังนั้นจึงมีคนเสนอว่าจริง ๆ แล้ว ประวัติศาสตร์กฎหมายอาจมีระเบียบวิธีที่แตกต่างไปจากประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาอื่น ๆ หรือไม่ เช่น ประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง ประวัติศาสตร์ความคิดทางกฎหมายอาจมีระเบียบวิธีที่ไม่เหมือนกับประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมือง คนที่เสนอความคิดนี้คือ ศาสตราจารย์ Anne Orford



TSIS : ต่อจากระดับที่สอง อันแรกคือการเติบโตของประวัติศาสตร์กฎหมาย เรากลับมาที่ประเด็นเรื่องความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในงานวิจัย

อธิบายไปไกลเลย (หัวเราะ) แต่จริง ๆ ความเคลื่อนไหวอีกอย่างนึงที่อยากพูดถึงจะเชื่อมโยงกับสิ่งที่พูดไปเมื่อสักครู่ ถ้าดูงานวิจัยในสาขากฎหมายระหว่างประเทศราวๆ 20 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเมื่อเทียบกับในอดีต เราจะเห็นความหลากหลายของทฤษฎีกฎหมายและระเบียบวิธีวิจัยในวงการกฎหมายระหว่างประเทศ ข้อนี้ชัดเจนมากๆ


ถ้าจะอธิบายคร่าวๆ ให้พอให้เห็นภาพกว้างๆ โดยทั่วไปเวลาเราพูดถึงกฎหมาย โดยเฉพาะคำว่า “กฎหมาย” ในภาษาไทย เรามักจะนึกถึงภาพของกฎเกณฑ์ต่างๆ หรือกฎเกณฑ์ที่รวมกันขึ้นเป็นระบบ อันนี้ก็เป็นการมองกฎหมายในมิติหนึ่ง แต่นอกจากนี้เรายังสามารถมองกฎหมายในมิติอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น การมองกฎหมายในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบาย ซึ่งคนที่มองลักษณะนี้จะมองว่า การมองกฎหมายในฐานะที่เป็นกฎเกณฑ์อย่างเดียวมันไม่พอ เพราะว่ากฎหมายไม่ได้เกิดขึ้นมาจากกอไผ่ แต่เกิดขึ้นมาเพื่อดำเนินนโยบาย มักจะมีนโยบายอยู่ข้างหลัง คนที่ออกกฎหมายก็จะมีนโยบายขึ้นมาอยู่แล้วตั้งแต่แรก ก็จะมองกฎหมายเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายนั้นๆ


อีกมิติหนึ่งคือ การมองกฎหมายโดยเจาะไปที่บุคลากรหรือบุคคลที่ทำงานในระบบกฎหมาย วิธีการมองแบบนี้ก็จะมองว่า ตัวบทกฎหมายไม่ได้มีการใช้การตีความด้วยตัวกฎหมายเอง แต่ต้องมีคนที่เอากฎหมายไปปรับใช้หรือไปตีความ เพราะฉะนั้น ถ้าจะดูแค่กฎหมายไม่พอ ต้องไปดูด้วยว่าผู้ที่นำไปใช้ ใช้งานอย่างไร มีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างไร มีวัฒนธรรมในองค์กรอย่างไร อันนี้ก็เป็นวิธีการมองอีกแบบหนึ่ง


หรือเราอาจจะเปลี่ยนมุมมองไปเลย เช่น การมองกฎหมายเชิงวิพากษ์ ซึ่งอาจจะเริ่มต้นมาจากว่า โลกเราเต็มไปด้วยการกดขี่ ไม่ว่าจะเป็นการกดขี่ทางชนชั้น การกดขี่ทางเพศ การกดขี่ทางเชื้อชาติ หรือดูจากสถานการณ์รอบโลกตอนนี้ อาจจะเพิ่มการกดขี่ทางเจเนเรชั่นเข้าไปด้วยก็ได้ เมื่อโลกเราเต็มไปด้วยการกดขี่ แต่โลกเราก็มีกฎหมายมาตลอด จึงมีการมองว่ากฎหมายน่าจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกดขี่คน อันนี้ก็เป็นวิธีการมองกฎหมายอีกแว่นหนึ่ง งานที่ศึกษาในมิติก็จะพยายามเผยให้เห็นว่ากฎหมายถูกใช้เพื่อกดขี่ทางชนชั้นอย่างไรบ้าง หรือเผยให้เห็นว่ากฎหมายมีเนื้อหาที่มีลักษณะกฎหมายทางเพศอย่างไรบ้าง อาจจะเรียกว่าเป็นการศึกษา “ด้านมืด” ของกฎหมาย


ทีนี้ พอเราตั้งต้นจากการทัศนคติที่ว่ากฎหมายไม่ใช่แค่เรื่องตัวบทกฎหมายหรือว่าแค่เรื่องเนื้อหา มันก็ทำให้กรอบการวิจัยขยับขยายออกไปกว้างขวางมากขึ้น


ส่วนในแง่ระเบียบวิธีวิจัยในสาขากฎหมายระหว่างประเทศในปัจจบุัน ก็ค่อนข้างน่าสนใจและสนุกสนานมากทีเดียว เพราะว่ามีการหยิบยืมเอาเครื่องมือ หรือทฤษฎีจากศาสตร์อื่น ๆ สาขาวิชาอื่น ๆ เข้ามาใช้มากขึ้น ถ้าเข้าไปดูบทความ หรืองานวิจัย หรือวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกในปัจจุบัน จะพบว่า งานในปัจจุบันค่อนข้างมีความหลากหลายในระดับทฤษฎีระดับวิธีวิจัยมากขึ้น และเป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้หลายๆ ที่ทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในอเมริกาหรือในยุโรป


โดยส่วนตัว จะสรุปวิธีวิจัยในวงการกฎหมายระหว่างประเทศในปัจจุบัน โดยแบ่งเป็น 3 กรอบเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ กรอบแรกคือการศึกษาโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยตามขนบดั้งเดิมของวิชานิติศาสตร์ ซึ่งที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์จะเรียกว่า “นิติศาสตร์โดยแท้” แต่โดยส่วนตัวไม่ค่อยชอบคำนี้ เพราะว่าเหมือนบอกเป็นนัยว่าการศึกษาด้วยกรอบอื่นๆ เป็นการศึกษานิติศาสตร์โดยเทียม (หัวเราะ) กรอบนี้เป็นการศึกษาวิจัยที่ใช้ระเบียบวิธีที่คุ้นเคยกันอยู่แล้วสำหรับคนที่เรียนนิติศาสตร์ คือการเข้าไปดูตัวเนื้อหาของกฎหมาย ดูตัวบทกฎหมาย ศึกษากฎหมายของต่างประเทศ ดูว่าศาลตีความอย่างไร มีปัญหาในแง่ตีความไหม หรืออาจจะไปดูนโยบายที่เกิดขึ้น ดูปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วเอากฎหมายเข้าไปเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ส่วนใหญ่คนที่ทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทในประเทศไทยจะใช้แนวทางนี้ ซึ่งก็เป็นแนวทางที่มีประโยชน์มาก


ส่วนอีก 2 กรอบวิธีวิจัยที่อยากพูดถึงคือ การใช้เครื่องมือจากสังคมศาสตร์ กับการใช้เครื่องมือจากมนุษยศาสตร์


การใช้เครื่องมือจากสังคมศาสตร์ หลายคนอาจจะคุ้นเคยกันอยู่บ้าง คือการศึกษากฎหมายโดยใช้เครื่องมืออื่น ๆ ในสังคมศาสตร์เข้ามาช่วย เช่น เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ เป็นต้น โดยจะมองว่ากฎหมายไม่ใช่แค่กฎเกณฑ์ แต่มองว่ากฎหมายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างหนึ่งที่สามารถเอาเครื่องมือวิจัยจากสังคมศาสตร์เข้าไปศึกษาได้


เช่น เราจะเริ่มเห็นการเก็บข้อมูล หรือแม้แต่การทดลอง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราเห็นงานวิจัยกฎหมายระหว่างประเทศเชิงประจักษ์เป็นจำนวนมาก อย่างเช่นการศึกษาสนธิสัญญา ก็มีงานวิจัยที่ดูว่าตัวบทของสนธิสัญญาในแต่ละสาขากฎหมายเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง โดยถือว่าตัวบทเป็นข้อมูล แล้วลอง coding ดู เช่น สนธิสัญญาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมซึ่งมีอยู่หลายร้อยฉบับมีแบบแผน (pattern) เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง สนธิสัญญาการลงทุนมีแบบแผนเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และแบบแผนหรือการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีนัยอย่างไรบ้าง น่าสนใจทีเดียว


ในส่วนการทดลอง ก็มีงานวิจัยทางกฎหมายที่ริเริ่มใช้การทดลองอยู่บ้าง อันหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ เรื่องการตีความสนธิสัญญา โดยมีการทดลองว่า คนที่ตีความสนธิสัญญาโดยอ่านเอกสารประกอบการยกร่างมาก่อน จะตีความต่างไปจากคนที่ไม่อ่านเอกสารประกอบการยกร่างหรือไม่


งานวิจัยในกรอบนี้ในปัจจุบันค่อนข้างเป็นที่ต้องการพอสมควร แนวโน้มในปัจจุบัน เวลาขอทุนในหลาย ๆ ประเทศ ค่อนข้างอยากที่จะให้ผู้วิจัยใช้เครื่องมือจากสังคมศาสตร์เข้าไปช่วย หรือการตีพิมพ์งาน ถ้าเป็นงานที่ใช้เครื่องมือจากสังคมศาสตร์ก็มีโอกาสที่จะได้รับการตีพิมพ์ในวารสารหลาย ๆ ฉบับได้มากกว่า


ส่วนกรอบสุดท้ายคือ การใช้เครื่องมือจากมนุษยศาสตร์ คือ การใช้เครื่องมือหรือทฤษฎีจากสาขาวิชาต่าง ๆ ที่เป็นมนุษยศาสตร์ ที่เริ่มเห็นกันมากขึ้นก็คือ การใช้ทฤษฎีหรือว่าข้อความคิดจากวรรณกรรมวิจารณ์ หรือการศึกษาวรรณกรรม สามารถสรุปง่าย ๆ ว่ามีอยู่ 2 กลุ่ม คือ (1) กฎหมายระหว่างประเทศ “ใน” วรรณกรรม และ (2) กฎหมายระหว่างประเทศ “ในฐานะที่เป็น” วรรณกรรม


อันแรกกฎหมายระหว่างประเทศ “ใน” วรรณกรรม คือ ไปศึกษานิยายหรือว่าวรรณกรรมสำคัญ ๆ ของโลก แล้วดูว่าในผลงานชิ้นนั้น ๆ มีหลักกฎหมายระหว่างประเทศอยู่หรือไม่ หรือว่ามีแนวคิดที่สะท้อนหลักกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่


เช่น งานของเชกสเปียร์ (William Shakespeare) มีการเข้าไปศึกษาว่ามันสะท้อนหลักกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ถ้าจะขยับเข้ามาใกล้ตัวหน่อยคือ เรื่องรามเกียรติ์ สะท้อนหลักกฎหมายเกี่ยวกับการการทำสงคราม การใช้กำลังหรือไม่ อย่างไร มันมีความคิดอะไรไหมที่ให้เราไปค้นได้ตรงนั้น อันนี้เป็นการมองกฎหมายระหว่างประเทศที่อยู่ “ภายใน” วรรณกรรม



อันที่สองคือ กฎหมายระหว่างประเทศ “ในฐานะ” ที่เป็นวรรณกรรม มองว่ากฎหมายในแง่หนึ่งมีความคล้ายคลึงวรรณกรรมคือ มีตัวบท ต้องมีการตีความเหมือนกัน และที่สำคัญคือ ต้องอาศัยจินตนาการร่วมกันของคนในสังคมจึงจะดำรงคงอยู่ได้ คนที่อ่านงาน Sapiens : A Brief History of Humankind ของ Yuval Noah Harari อาจจะจำได้ว่า ผู้เขียนเองก็ได้อธิบายว่า กฎหมายเป็นเรื่องเล่าที่คนในสังคมมีร่วมกัน อันนี้ก็เป็นวิธีการคิดที่ใกล้เคียงกัน เป็นการมองกฎหมายในฐานะที่เป็นวรรณกรรม



คนที่ศึกษาวิจัยในกรอบนี้จะเข้าไปศึกษาว่ามันมีทฤษฎีหรือว่ามีความคิดอะไรที่น่าสนใจบ้างในสาขาวิชาวรรณกรรมศึกษาหรือวรรณกรรมวิจารณ์ ที่เอามาช่วยในการศึกษาทำความเข้าใจกฎหมายระหว่างประเทศได้มากขึ้น อันหนึ่งที่มีงานเกิดขึ้นเรื่อย ๆ คือการตีความกฎหมาย การตีความสนธิสัญญา โดยจะดูว่าในวงการวรรณกรรมมีทฤษฎีเกี่ยวกับการตีความวรรณกรรมอย่างไรบ้าง แล้วดูว่าช่วยเอามาใช้อธิบายการตีความกฎหมายได้มากน้อยเพียงใด



TSIS : แนะนำหนังสือที่รวบรวมทฤษฎี หรือระเบียบวิธีวิจัยของการวิจัยกฎหมายระหว่างประเทศที่น่าสนใจ ?

เล่มแรกที่แนะนำจะเป็นหนังสือที่มาจาก Symposium ชื่อ The Methods of International Law ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร The American Journal of International Law ประมาณปี ค.ศ.1999 ที่เชิญอาจารย์ที่ทำงานแต่ละกรอบทฤษฎีมาอธิบายวิธีการทำงานของตัวเอง มีตั้งแต่แบบดั้งเดิม เชิงวิพากษ์ สตรีนิยม Legal Process และ Law & Economics โดยทุกคนจะตอบคำถามเดียวกันว่า ถ้าเราจะศึกษาเรื่อง armed conflicts (การขัดกันด้วยอาวุธ) ภายในประเทศ กรอบทฤษฎีแต่ละกรอบจะช่วยฉายภาพ หรือว่าช่วยให้เห็นมิติไหนได้บ้าง จะตั้งคำถามวิจัยว่าอย่างไร และมีกระบวนการหาคำตอบเป็นอย่างไร เล่มนี้ก็เป็นเล่มหนึ่งที่ควรจะเริ่มอ่านเพราะจะช่วยจุดประเด็นเรื่องวิธีวิจัยในวงการกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ชี้ว่าในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา กฎหมายระหว่างประเทศพัฒนาไปถึงขั้นที่มีเครื่องมือวิจัยให้คนเลือกใช้ได้หลากหลายมาก ไม่ได้มีเพียงแค่การศึกษาตามขนบดั้งเดิม



อีกเล่มเป็นหนังสือที่ใช้เรียนที่เจนีวานี่แหละ ของอาจารย์ชื่อศาสตราจารย์ Andrea Bianchi หนังสือชื่อ International Law Theorries: An Inquiry into Different Ways of Thinking หนังสือเล่มนี้อธิบายวิธีวิจัยค่อนข้างหลากหลาย ความน่าสนใจของเล่มนี้ก็คือ เขียนขึ้นโดยตัวอาจารย์เพียงคนเดียว ซึ่งต่างจากงาน Symposium เมื่อสักครู่ที่ให้อาจารย์ที่โด่งดังในแต่ละกรอบทฤษฎีมาอธิบายวิธีการทำงานของตัวเอง



ตัวอาจารย์ Bianchi เองเคยทำงานวิจัยในหลาย ๆ กรอบ ทั้ง Law and Economics กรอบวิจัยตามขนบดั้งเดิมบ้าง หรือการใช้ไอเดียจากกฎหมายกับวรรณกรรมบ้าง ซึ่งตรงนี้ เราจะเห็นได้ว่าคน ๆ เดียว ไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับเครื่องมือแค่แบบเดียว หรือแค่ชุดเครื่องมือแค่ชุดเดียว แต่สามารถเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับคำถามของงานวิจัยชิ้นนั้น ๆ ได้ มีความยืดหยุ่นน ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับเครื่องมือ ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่นักวิจัยควรทำคือ ควรที่จะพยายามเรียนรู้เครื่องมือเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด เพราะจะได้นำไปใช้ได้อย่างเหมาะเจาะเหมาะสมที่สุด ข้อนี้ก็เป็นบทเรียนสำคัญข้อหนึ่งที่ได้จากการเรียนที่นี่



TSIS : ถ้ามีคนกำลังหาหัวข้อวิจัยในช่วงนี้ คิดว่าในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา มีหัวข้ออะไรที่น่าสนใจสำหรับนักศึกษาที่จะทำวิทยานิพนธ์โดยอาจมีบริบทไทยเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่มีก็ได้ แต่เป็นประเด็นที่คนไทยน่าจะให้ความสนใจ ?

ถ้าเอาในช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา ก็ต้องเป็นเรื่องโรคระบาดอยู่แล้ว คิดว่าอีก 2 – 3 ปี น่าจะเห็นงานวิจัยเพิ่มมากขึ้น แต่เท่าที่ดูในตอนนี้ยังไม่เห็นว่ากฎหมายระหว่างประเทศจะเข้าไปมีบทบาทได้มากน้อยเพียงใด เพราะฉะนั้นเราทดเรื่องนั้นไว้ก่อน แต่คิดว่าน่าจะเห็นงานวิจัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แน่นอน


แต่ขอพูดถึง 2 หัวข้อใหญ่ ๆ คือหัวข้อ ความสัมพันธ์ของกฎหมายระหว่างประเทศกับการเมืองภายในประเทศ กับหัวข้อ บทบาทของประเทศกำลังพัฒนากับกฎหมายระหว่างประเทศ


ในหัวข้อแรก ในแง่ความเป็นอยู่ของคนเราจริง ๆ กิจกรรมของคนเราส่วนมาก เกิดขึ้นภายในประเทศใดประเทศหนึ่งอยู่แล้ว พอเราตั้งต้นแบบนี้ จะเห็นว่ายังไงๆ กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ต้องเกี่ยวข้องกับการเมืองในประเทศแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ กฎหมายระหว่างประเทศเองก็เช่นกัน ตัวกฎหมายก็ได้รับผลกระทบจากการเมืองภายในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือในทางตรงกันข้าม กฎหมายระหว่างประเทศเอง ในปัจจุบันก็เข้ามามีบทบาทในการเมืองภายในประเทศเหมือนกัน


ตัวอย่างที่อาจจะใกล้ตัวคนไทยก็คือ เรื่องการแบนสารพิษที่เป็นข่าวเมื่อปีที่แล้ว พอมีข่าวว่าประเทศไทยอยากจะแบนสารพิษ ทั้งอเมริกา บราซิลและอีกหลายประเทศก็ส่งหนังสือมาที่ไทย บอกว่ามาตรการนี้อาจขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศในกรอบ WTO และอาจทำให้มีการฟ้องคดี หรือประเด็น CPTPP ที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ จะเห็นได้ว่ามีแรงกระเพื่อมส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในเมืองไทยอย่างมาก ก็จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัว จริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องใกล้ตัวระดับเรื่องของความเป็นอยู่ของคนในสังคม อันนี้ก็เป็นหัวข้อหนึ่งที่คิดว่ายังมีพื้นที่ ยัมีประเด็นให้ศึกษาอีกมากในกรอบกว้าง ๆ พวกนี้


หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งจริง ๆ งานที่ศึกษาเองควบคู่ไปกับการเรียนปริญญาเอกคือดูว่า บทบาทของประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าประเทศไทยมีบทบาทในเรื่อง ศาล หรือว่าอนุญาโตตุลาการ การระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศมากขึ้น แน่นอนว่าเราเคยได้ยินเรื่องคดีเขาพระวิหารเมื่อหลายปีก่อนที่เป็นประเด็น แต่นอกจากนี้ ไทยยังไปปรากฏตัวครั้งแรกในศาลกฎหมายระหว่าประเทศว่าด้วยกฎหมายทะเลเป็นครั้งแรก ในศาลโลกเอง ไทยก็ไปปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องการให้ความเห็นในกระบวนการที่เรียกว่าความเห็นแนะนำ เมื่อหลายปีก่อนมีความพยายามที่จะนำเรื่องการสลายผู้ชุมนุมที่ราชประสงค์ไปสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ นอกจากนี้ก็จะมีเรื่องอนุญาโตตุลาการการลงทุนที่อาจจะคุ้นเคยกันจากคดีเหมืองอัครา และยังมีเรื่องการค้าระหว่างประเทศในกรอบ WTO เพราะฉะนั้นถ้าเราดูในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเข้าไปมีบทบาทในศาล หรือกระบวนการอื่น ๆ ระหว่างประเทศมากขึ้น ซึ่งมันน่าสนใจว่า จะส่งผลต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ข้าราชการ หรือนักการเมืองในประเทศอย่างไรบ้าง ส่งผลในเรื่องการกำหนดนโยบายของประเทศไทยอย่างไรบ้าง หรือการที่เราไปสร้างข้อผูกมัดให้ตัวเองในหลาย ๆ กรอบ หลาย ๆ เวที โดยที่เราเองอาจจะไม่รู้ตัวว่ามันจะมีผลตามมาอย่างไรบ้าง มีนัยยะในทางนโยบายภายในประเทศอย่างไรบ้าง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ศึกษาอยู่และอาจจะเขียนเป็นบทความเร็ว ๆ นี้ อันนี้ก็เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่คิดว่าเป็นหัวข้อใหญ่ ๆ ที่น่าสนใจ สามารถเอาไปต่อยอดได้


หัวข้อที่สอง คือเรื่อง บทบาทของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประทศในเอเชีย คนที่เคยศึกษากฎหมายระหว่างประเทศอาจจะรู้ว่า กฎหมายระหว่างประเทศฉบับที่เราเรียนกันเป็นกฎหมายระหว่างประเทศของตะวันตกทั้งนั้น ซึ่งแน่นอนว่ามีประเทศต่าง ๆ นอกจากประเทศตะวันตกเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้าง ในการพัฒนาด้วย จะเห็นได้ว่าฐานคิดใหญ่ ๆ เป็นของประเทศตะวันตกทั้งสิ้น


เพราะฉะนั้นเสียงของประเทศอื่น ๆ อาจจะมีน้อยลงมาก ซึ่งจริง ๆ แล้วก็เข้าใจได้ เพราะว่าประเทศอื่น ๆ นอกจากประเทศตะวันตกเพึ่งตั้งประเทศเป็นอิสระจากการถูกล่าอาณานิคมเมื่อ 60 – 70 ปีที่ผ่านมา เพียงแต่ว่าหลาย ๆ ประเทศที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีน บราซิล อินเดีย เริ่มมีอำนาจทางเศรษฐกิจมากขึ้น คำถามที่น่าสนใจก็คือว่า การโตขึ้นของประเทศเหล่าจะส่งผลต่อระบบกฎหมายระหว่างประเทศโดยรวมอย่างไร ไม่ใช่แค่เนื้อหากฎหมายที่เป็นรายละเอียด แต่คือระบบใหญ่ของกฎหมายจะเปลี่ยนไปอย่างไร หรือตัวกฎหมายแบบเดิมที่เราคุ้นเคยจะสามารถรองรับท่าทีของประเทศเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าสนใจเหมือนกัน



Illustration by Arnon Chundhitisakul



1,399 views1 comment

1 Comment


CBKM BOCU
CBKM BOCU
Nov 03

EPTU Machine ETPU Moulding…

EPTU Machine ETPU Moulding…

EPTU Machine ETPU Moulding…

EPTU Machine ETPU Moulding…

EPTU Machine ETPU Moulding…

EPS Machine EPS Block…

EPS Machine EPS Block…

EPS Machine EPS Block…

AEON MINING AEON MINING

AEON MINING AEON MINING

KSD Miner KSD Miner

KSD Miner KSD Miner

BCH Miner BCH Miner

BCH Miner BCH Miner

Like
bottom of page